ขันติ

พิจารณาธรรม วันศุกร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖
เวลา ๑๔.๕๔ น.

 

                ขันติ  ความอดทน  อดทนด้วยมีสติ ด้วยโยนิโสมนสิการ ได้ยินคำสบประมาทก็สามารถประคองสติ พิจารณาโดยแยบคาย ปลอบใจตนเอง เขาด่าเขาว่าก็ดีทั้งหมด ที่ไม่ดีนั้นเพราะเราไปรับเอาไว้ต่างหาก

               
คำด่า คำว่า คำสบประมาทดีจริง เป็นลาภอันประเสริฐ เหมือนเขาชี้ขุมทรัพย์ให้ ให้รีบทำความเพียร ขุดขุมทรัพย์นั้นทั้งกลางวันกลางคืน จนได้สมบัตินั้น แทนที่จะโกรธเคืองกลับสนุกสนานบานใจ และแผ่เมตตาให้ ขอให้เขาจงมีชีวิตอายุยั่งยืนนาน อย่างนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตีติกฺขาขนฺติ แปลว่า อดกลั้นทาน ถ้าอดทนจนเป็นตบะเดชะขันติ อดทนจนเคยชิน ได้เห็น ได้ยินได้รู้เรื่องราวที่มากระทบใจก็ทนได้เฉยได้ ไม่มีอะไรมากระทบรบกวนให้สะเทือนใจ จิตของผู้นั้นมีอาการดังเสาเขื่อน ตั้งมั่นดุจภูเขาและแผ่นดิน ไม่ยินดียินร้ายกับอารมณ์ ต่อผู้ที่มาประทุษร้าย หรือผู้ที่มาสรรเสริญบูชา ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสต่อพระสารีบุตรด้วยความโสมนัสมุทิตาว่า “ปฐวีสโมโนวิรุชฺฌติ อินฺทขีลูปโมตาทิสุพฺพโต” แปลว่า ผู้มีใจเสมอด้วยแผ่นดิน ไม่ยินดียินร้าย มีความปฏิบัติดีคงที่ เหมือนเสาเขื่อน เรียกว่า อธิวาสนขันติ แปลว่า อดทนจนเรื่องที่มากระทบไม่หวั่นไหวมีใจปกติอยู่ได้ ทนจนเรื่องร้ายให้กลายเป็นเรื่องดี ใจที่มีขันติอดทนได้ มีลักษณะดังนี้

                ขณะใดที่ใจมีเมตตา ความทนทาน อธิวาสนตา  ความมีอันอดกลั้นได้ อจณฺฑิกฺกํ  ความที่ใจไม่ดุร้ายฉุนเฉียว  อนสฺสุรูโป  ความไม่ยังน้ำตาให้ไหลออก  คือไม่ใช่อดทนได้ในภายในแต่น้ำตาไหลออกมาภายนอก  อตฺตมนตา  ความเป็นผู้มีจิตใจเบิกบานยินดี ในขณะนั้นพึงทราบว่าใจมีขันติ
                แต่ขันติ เป็นไปด้วยดีต้องอาศัยคุณธรรม  คือ โสรัจจะ ความเสงี่ยม  โสรัจจะอรรถกถาว่า สุสีลภาโว  ความเป็นผู้มีปกติ หรือมีศีลด้วยดี  สุรตภาโว  ความเป็นผู้ยินดีด้วยดี  แปลความว่า ความเสงี่ยมถ้าเป็นผู้รักษาศีล ก็รักษาโดยความเต็มใจ ไม่ฝืนใจ ยินดีในการปฏิบัติเช่นไรก็ยินดี ด้วยความเสงี่ยมงาม มีความแช่มชื่นแจ่มใส ไม่ใช่ฝืนใจยินดี  โสรัจจะธรรมข้อนี้คู่กับขันติ โสรัจจะแต่งกายวาจาให้สงบ ขันติอดทนให้ใจสงบ ถ้าขันติไม่อาศัยโสรัจจะ จะกลายเป็นขันติอัดกระทบอารมณ์ร้อนร้ายอย่างไรๆ ก็อัดเก็บไว้  เก็บอัดไว้เต็มที่เมื่อใดอาจเกิดระเบิดขึ้นมา  กลายเป็นดุด่าว่าร้ายเสียดสี หยาบคาย ทำให้กาย วาจา จิตวิกลจริตไม่น่าดู ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้บำเพ็ญขันติ ความอดทน ต้องมีโสรัจจะประจำกลมกลืนอัธยาศัย  ให้เป็นการอดทนด้วยความจริงใจ จะได้แจ่มใส แช่มชื่นเบิกบานได้จริง ทั้งกายวาจาใจ ครบไตรทวาร ขันติและโสรัจจะธรรม ๒ ประการนี้ มีอยู่ในท่านผู้ใดย่อมทำให้ท่านผู้นั้นเป็นผู้สง่างาม สงบ น่าทัศนา

                “เป็นคนดีเพราะความประพฤติดี คนชั่วเป็นอันมากปกปิดความชั่วไว้ เหมือนหม้อดินฉาบทาด้วยทองแวววาวแต่ภายนอกเท่านั้น แสดงอาการลวงผู้อื่นให้หลงเข้าใจผิด หลงเคารพนับถือ ทั้งๆ ที่ตนเลว”
System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]