ประวัติพระอาจารย์นพพร อาทิจฺจวํโส 

 Artitteacher

 

ท่านเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหญ่อินทาราม ที่วัดนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินท่านสร้างศาลาไว้ ๒ หลัง มีหลวงพ่อเฉย(๑) ซึ่งเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน  วัดใหญ่นี้อยู่ใกล้กับท่าเกวียน พระอาจารย์เรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ปัจจุบันโรงเรียนนี้เรียกว่า โรงเรียนอินทปัญญา ที่ท่าเกวียนนี้ในอดีตสมัยพระอาจารย์เป็นเด็ก มีประเพณีวิ่งควายเพื่อไม่ให้ไฟไหม้ ปัจจุบันก็ยังคงมีประเพณีวิ่งควายตามความเชื่อดั้งเดิมอยู่
            
               เมื่อท่านเรียนจบแล้วท่านได้มาเป็นลูกจ้างทำกะปิ น้ำปลา ต่อมาเป็นยี่ปั๊วส่งกะปิ น้ำปลา เมื่ออายุ ๑๗ ปี ท่านทำงานหล่อดอกยางอยู่ ๕ ปี แล้วเปลี่ยนมาขายน้ำมันรถ ๒ ปี ท่านเป็นเด็กตัวอย่างของสะพาน ทำให้เด็กอื่นๆ ในบริเวณนั้นต่างดูท่านเป็นตัวอย่าง เพราะความเป็นเด็กดี มีศีล ๕ มีความกตัญญูเป็นยอด ท่านมีความขยันขันแข็งมากไม่เกเรและไม่เหมือนใคร ตอนเย็นท่านจะไปรับขนมปังปอนด์กับหวานเย็นมาขายเอาเงินให้โยมพ่อกับโยมแม่

               ต่อมา โยมพ่อเสียชีวิตประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้บวชเณรในงานศพโยมพ่อเป็นเวลา ๗ วัน ตอนนั้นท่านยังทำงานหล่อดอกยางอยู่ ส่วนโยมแม่ยังคงมีชีวิตอยู่ โยมพ่อ(๒) โยมแม่ของท่านเป็นคนซื่อสัตย์ กตัญญู ไม่เอาของใคร พระอาจารย์ยึดมั่นในคำสอนของโยมพ่อโยมแม่เสมอมา ท่านจึงได้รับพื้นฐานความกตัญญูมาจากโยมพ่อโยมแม่ ท่านใช้ชีวิตที่เรียบง่ายมาตลอด ทำงานด้วยความขยันขันแข็งตลอดเวลา
               สาเหตุที่ทำให้พระอาจารย์ได้บวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบันนี้ เกิดจากเมื่อมีการตัดถนนผ่านปั๊มน้ำมันที่ท่านทำงานอยู่  มีพระธุดงค์สององค์ และตาขาวหนึ่งองค์ เดินทางมาปักกลดใกล้ปั๊มน้ำมัน ที่ท่านทำงานอยู่ ท่านเข้าไปกราบไหว้ถวายสิ่งของ พระธุดงค์ได้กล่าวว่า “ควรจะบวชได้แล้ว”  ท่านจึงเกิดความคิดอยากบวช ได้มอบข้าวของเครื่องใช้ที่ท่านมีอยู่ให้เพื่อนๆ ไปจนหมด

                อายุ ๒๔ ปี ท่านได้บวชที่วัดใหม่พระยาทำ มีพระอุปัชฌาจารย์ คือ พระครูพิสิฎฐ์พรหมยาน (พงษ์ โพธิวํโส) พระอาจารย์ประยูร ภตปุญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ ใช่ สุชีโว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ บวชเสร็จแล้ว ไปอยู่เขาฉลาก(๓)  ตอนนั้นเขาฉลากยังไม่มีโบสถ์ ไม่มีไฟฟ้า ท่านเลือกมาจำพรรษาที่เขาฉลาก เพราะเพื่อนเล่าให้ฟังถึงปฏิปทาของพระเจ้าอาวาส รักษาพระธรรมวินัย ฉันมื้อเดียว ไม่รับเงินทอง เก็บไว้เป็นของสงฆ์หมด ท่านจึงศรัทธา
                ท่านบวชได้ ๖ พรรษา ท่านยังไม่มีกุฏิอยู่ ท่านมักน้อย สันโดษ(๔) ทำกิจวัตรทุกอย่าง กวาดลานวัด ล้างส้วม บางทีกวาดตั้งแต่บ่ายโมงถึงหกโมง ท่านเป็นฆราวาสที่ขยัน  เป็นพระก็ขยัน ทำวัตรสวดมนต์ไม่ขาด บิณฑบาตทุกวัน ฉันมื้อเดียวตลอด
 
                ท่านสอบนักธรรมตรี-โท-เอก เมื่ออยู่เขาฉลาก พรรษาแรกสอบนักธรรมตรีได้ พรรษาที่สองได้นักธรรมโท พรรษาที่สามได้นักธรรมเอก แล้วเป็นครูสอนปริยัติธรรม  และเป็นพระคู่สวดอยู่ที่เขาฉลาก ไปๆมาๆ จนครบ ๖ พรรษา
 
                ชีวิตการปฏิบัติธรรมของท่าน ๓๖ พรรษา ท่านดำเนินชีวิตมักน้อย สันโดษ อดทน ท่านเคยไปอยู่กับหลวงพ่อมหาปิ่นที่วัดพระธาตุเขาน้อย ในช่วงปลายชีวิตของหลวงพ่อ ครั้งแรกอยู่ ๓ เดือน ครั้งต่อมาอยู่อีก ๗ เดือน จนหลวงพ่อมหาปิ่นมรณภาพ พระอาจารย์ได้มีโอกาสพบหลวงปู่ชอบ รวมทั้งหลวงพ่อชา สุภัทโทด้วยท่านตั้งปณิธานว่าอยู่เขาฉลากครบ ๑๐ พรรษา ท่านจะออกธุดงค์ และท่านได้ไปพักปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์เขาเขียวเกือบ ๗ ปี ท่านคิดเสมอว่า ท่านไม่เกรงกลัวอะไร ขอถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา
 
                ต่อมาท่านเดินทางขึ้นเหนือ พำนักอยู่ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แล้วกลับไปที่เขาฉลาก  ต่อมาเดินทางมาจำพรรษาที่วัดพระเจ้าตนหลวง ดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จำพรรษาอยู่ที่นี่ ๑ พรรษา ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๔ พอออกพรรษาท่านได้เดินทางมายังพื้นที่ที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรมอาทิจฺจวํโส ปัจจุบัน
 
                ปี พ.ศ.๒๕๓๕ ท่านเริ่มใช้ชีวิตอยู่ ณ สำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ตั้งแต่ยังเป็นผืนดินเพาะปลูกข้าวโพดของชาวบ้าน อุบาสิกาเพียงเดือน ธนสารพิพิธ ได้เข้ามาก่อสร้างพื้นฐานของสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ พระอาจารย์วางเสาเอก สำนักฯ และเข้ามาอยู่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๕ (คุณหญิงพยอม สิงหเสน่ห์ และคณะศิษย์ ได้ช่วยถวายปัจจัยในการก่อสร้างในวาระนี้)
 
                วันครบรอบวันเกิดของพระอาจารย์ปีนี้ ซึ่งเป็นวันครบ ๕รอบ (๖๐ ปี) ของพระอาจารย์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ลูกหลานและคณะศิษย์ทุกคนต่างมีความรู้สึกซาบซึ้งกันดีว่า พระอาจารย์นพพรมีปฏิปทา เหมาะสมแก่การเป็นเนื้อนาบุญอันเอกของโลก ท่านครองตนอยู่ภายใต้ผ้ากาสาวพัตร์มาเป็นระยะเวลา ๓๖ พรรษา  ตลอดเวลาได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและสงเคราะห์ลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ สาธุชน ผู้มีทุกข์ทางกาย และทางใจเป็นจำนวนมาก พระอาจารย์เป็นผู้มีเมตตากรุณาหาประมาณมิได้ มีเมตตากรุณาต่อทุกคน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าจะเป็นใครเดินทางมาพบท่าน ท่านจะเมตตาสงเคราะห์และอบรมสั่งสอน ให้ข้อคิด ข้อธรรม เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างเท่าเทียมกัน
 
โมทนาสาธุ  โมทนาสาธุ  โมทนาสาธุ 
                                                                                                 
จักรี  ศรโชติ และ ศันสนีย์  อ่อนท้วม  
                                                                                                              บันทึกเสียงและเรียบเรียง
                                                                                                                   ๙ มกราคม ๒๕๔๕