บันทึกธรรม 2

พิจารณาธรรม วันจันทร์ที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔

เวลา ๑๘.๕๙ น.
                ได้ไปอยู่วัดป่าพระธาตุเขาน้อย ต.บ้านคา กิ่งอำเภอสวนผึ้ง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
อาทิตย์ที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑  ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔

                หลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต (พระครูวิโรจน์ธรรมาจารย์) ได้ถามถึงการปฏิบัติที่ผ่านมา ในเรื่องพระธรรมวินัย ได้กราบเรียนท่านว่า เมื่อครั้งอยู่ป่าบนเขาเขียว ชลบุรี อ.ศรีราชา นั้นคืนวันหนึ่ง หลังจากทำวัตรสวดมนต์ ได้ทำจิตให้สงบ และได้มีความรู้ว่า การที่เราจะพ้นบ่วงจากมารเราต้องรู้จักมาร! จึงจะพ้นมารได้ แล้วจึงเริ่มพิจารณามาร ๕ คือ ขันธ์มาร ๑ กิเลสมาร ๑ เทวปุตตมาร ๑ อภิสังขารมาร ๑ มัจจุมาร ๑

                พอพิจารณาถึงเทวปุตตมาร! ก็มีความรู้ขึ้นมาว่า ให้เราเติมจุด.สนใจในตัว ทฺ อยู่ล่างตัวทอแล้วก็อ่านว่า 
เทฺวะ  ทะเว แปลว่า สอง รวมกันเข้ากับปุตตะเทวปุตตก็ได้ความหมายขึ้น คือ ลูกทั้งสอง ได้แก่ ลูกชายหญิงนั่นเอง
ที่คนส่วนมากมีอยู่ติดอยู่ แต่สำหรับเราไม่มี เพราะละมาเสียแล้ว ไม่ประกอบในอันที่จะมีเสียแล้ว อะ แปลว่าไม่ เมื่อเอาสระอะ มาสะกดเข้ากับตัว ร ก็อ่านว่า ระ! เมื่อเรามา ระ! เสียแล้ว คำว่า มาร! ก็หายไป มาร หรือมาระ นี้ถูกเราทิ้งเสียแล้ว เพราะเราได้รู้จักเจ้าดีแล้ว เจ้าจะทำให้ข้าหลงยินดีเพลิดเพลินอีกเป็นอันไม่มี!

                หลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต ก็พูดขึ้นว่า ท่านมีอุบายปัญญาแยบคายดี! แล้วสีลล่ะ! ท่านมีความรู้สึกอย่างไร? ได้กราบเรียนท่านว่า คืนวันหนึ่งอยู่ที่เดิมบนเขาเขียวนั่นแหละ ! ได้นิมิตฝันว่าเจ้าพ่อจิตลัมพาย มีอำนาจเหนือมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ผมแทรกอยู่ตามลมหายใจเข้าออกของมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ผมเป็นใหญ่แต่ผู้เดียว แต่อยากทราบว่าท่าน ศีล อยู่ที่ไหน? พร้อมกับชี้มือมาที่ตัวเรา กระผมได้ตอบไปทันทีว่า สีล! อยู่ที่ ละ! เจ้าพ่อจิตลัมพายก็พูดว่า พระอยู่ที่จริง! (สัจจะ! อริยสัจจ์) เจ้าพ่อรู้หรือเปล่าว่า อาตมามีดีอะไร? เจ้าพ่อพูดว่า รู้ซิ! มีพุทธายะ!  เราก็นึกเถียงขึ้นในใจว่าเจ้าพ่อก็รู้เพียงเท่านั้น เจ้าพ่อก็เลยกลับไป

                การปฏิบัติ สีล อยู่ที่ ล ละ! ถ้าไม่มี ล ละ! ก็เหลือแต่สีเท่านั้นเอง สีเหลือง สีกรัก สีแดง สีขาว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร? และแนวทางปฏิบัติพระองค์ทรงยกย่อง สติปัฏฐาน ๔ ว่าเป็นธรรมเอก มีกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นฐานที่ตั้งของสติ ทีนี้ พอมาพิจารณากาย ก็รู้พร้อมทั้งอรรถ พยัญชนะ เกิดความเข้าใจทันทีว่า เรามี สีล ละ! เอา ล ละ! ล.ลิงหลุกหลิก! มาอยู่หลัง กไก่  สระอา มันก็ได้เรื่องราวทีเดียว เอา ล ละ ล ลิง จับไก่ เอา ย ยักษ์ ย้ายเขยื้อนที่  ขยายที่ห่างออกไปหน่อย มันก็ได้ความรู้ขึ้นมาจากกาย อันผสมเสร็จจากธาตุ ๔ มีนามเป็นขันธ์ ๕ ชื่อว่ากาย! กลาย! เมื่อกายเป็นกลายแล้ว กลายตัวนี้เองเป็นอนิจจัง เมื่อกลายเป็นอนิจจังแล้ว เวทนา จิต ธรรม ย่อมอนิจจังไปตามกัน เพราะกลายเป็นมหาภูตรูปรูปใหญ่ ส่วนเวทนา จิต ธรรม เป็นอุปาทายรูป รูปอาศัย! เมื่อมหาภูตรูปอยู่ไม่ได้ แตกพัง ทำลายแล้ว อุปาทายรูป  รูปอาศัยก็อยู่ไม่ได้  ต้องแตกพัง ทำลาย อนิจจังไปด้วยกัน ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ทั้งหลายไม่ได้พิจารณากายให้แตกหัก เห็นเป็นกลายแล้วถึงพิจารณา เวทนา จิต ธรรม เก่งกาจขนาดไหน? ก็ยังไปได้ไม่ไกล! พอจิตถอนออกก็อยู่แค่กายไม่ได้ขุดรากถอนโคนทิ้ง!

                กลายนี้ไม่จีรังยั่งยืน ยักย้ายถ่ายเทภพชาติ เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล และเป็นที่ไหลเข้าไหลออกของอาการ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และอาหาร เป็นต้น เป็นต้นเค้ารากเหง้าใหญ่!ส่อให้เห็นกายเป็นกลาย เป็นอนิจจังใหญ่ เปลี่ยนแปลงใหญ่ เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เวทนา จิต ธรรมไปด้วยกัน ตามกันไป จิตรู้ไม่ทันก็หลง !

                ส่วนทุกขํของเวทนา เสวยอารมณ์ที่จิตรับรู้ รับทราบ ว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ก็พิจารณา เวทนา ความเสวยอารมณ์ ทางกาย เป็นอารมฺมณ! ติดถี่เข้าไปที่กายอีก ก็รู้ทราบชัดว่า กายนี้กลายเป็นทุกข์ใหญ่  ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน เคี้ยว ลิ้ม จิบ อุจจาระ ปัสสาวะ ล้วนต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ล้วนต้องถ่ายเทออก ล้วนลำบากเป็นทุกข์ อิริยาบถไม่สม่ำเสมอ ทำให้ธาตุขันธ์แปรปรวนวิปริต ล้วนทำกายทำใจให้ลำบาก  เป็นทุกข์ทั้งนั้น ทนได้ยากเป็นผลของกาย กลายเป็นเหตุ! ทุกข์เป็นผล!

                จิตอันอาศัยกาย กลายเกิดอยู่เป็นอยู่  จึงสำคัญมั่นหมายกาย กลายว่า เป็นกาย กลายเรา  กายกลายเขา มีอุปาทานยึดมั่นกาย กลายถือเป็นตัวตน ครั้นกายกลายเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จิตจึงลำบากจิต คิดหาการป้องกันรักษากาย กลาย บำรุงบำเรอกาย กลาย จึงได้เกิดความโลภ เพราะกายกลาย จึงเกิดความโกรธเพราะกายกลาย จึงเกิดความหลงเพราะกายกลาย จึงเกิดความโกรธเพราะกายกลาย จึงเกิดความหลงเพราะกายกลาย มีราคะ โทสะ โมหะ เพราะกายกลาย จิตจึงมีมานะ ทิฏฐิจิต แข็งกระด้าง ภาวนาไม่ลง เพราะทำใจให้ยอมรับความเป็นจริงไม่ได้ จิตจึงไม่รวมไม่สงบ

                อุบายวิธี ไม่ค่อยทันจิต เพราะจิตไม่ยอมรับ จิตนี้จึงเป็นมหาเหตุใหญ่  ถ้าได้ลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสตัณหาแล้ว ก็มักเพลิดเพลินยินดี ไม่ใส่ใจในความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ถ้าใส่ใจยึดถืออะไรเข้าแล้ว ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นรูปดี รูปไม่ดี เสียงดี เสียงไม่ดี กลิ่นดี กลิ่นไม่ดี รสดี รสไม่ดี โผฏฐัพพะสัมผัสดี โผฏฐัพพะสัมผัสไม่ดี  ธรรมารมณ์ดี ธรรมารมณ์ไม่ดี ล้วนฝังรากลึก เป็นอาสวะ อนุสัยสันดาน ถ้ายิ่งเพิ่มบุตรธิดา ภรรยาสามี ทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน ไร่นา เรือกสวน ที่ดิน ก็ยิ่งติดลึกมาก ถอนยากแก้ยาก  ใครอย่ามาชักชวนให้รู้ให้เห็นไปเที่ยวให้ทานรักษาศีล เจริญภาวนา ไปไหนไกลๆ ก็ไปยาก เป็นห่วงกังวล เป็นทุกข์สารพัด แทนที่จะไปดับทุกข์ระงับทุกข์ กลับเป็นปัญหาสร้างทุกข์เพิ่มทุกข์ให้จิตสับสนฟุ้งซ่านเพิ่มขึ้นอีก  วิธีแก้จึงต้องแก้ที่จิต ให้จิตรับรู้รับทราบตามเป็นจริง ให้จิตคลายกังวลคลายความยึดถือลงเสียก่อน เพื่อถอนมานะทิฏฐิอันแข็งกระด้าง แล้วจึงสอนให้เพ่งหรือพิจารณา หรือทั้งเพ่งทั้งพิจารณา ในการภาวนา ในการพิจารณา และฝึกจิตให้อยู่กับอารมณ์เดียว ทั้งวันทั้งคืน ทั้งเดือนทั้งปี แล้วให้พิจารณาอารมณ์ พิจารณาดูจิต จิตจะมีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิจิตตั้งมั่น ญาณความรู้มีปัญญาอารมณ์จิตผ่องใส เพราะใจได้เปลี่ยนอารมณ์ จิตจึงรู้ทราบชัดตามเป็นจริง จนถอนอุปาทานความยึดถือมั่นได้!

                ธรรม คือ ธรรมชาติ เป็นเอง ไม่มีการปรุงแต่ง ตกแต่ง เมื่อมีการปรุงแต่ง ตกแต่ง ไม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือธรรมดา เป็นการบีบบังคับธรรมชาติ ฝืนธรรมดา จึงได้รับภัยธรรมชาติ ถูกธรรมชาติธรรมดาลงโทษ เป็นอันมาก  เพราะธรรมชาติอนิจจังเป็นนิจ  จึงต้องทุกข์เป็นนิจ แล้วก็อนัตตาไป ทั้งอนิจจัง ทั้งทุกขัง จิตฝืนธรรมชาติ จิตฝืนอารมณ์ จึงทุกข์มาก ธรรมชาติเป็นไป เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล แต่จิตไม่เป็นไปตามฤดูกาล  ผู้มีปัญญา รู้กฎธรรมชาติจึงตั้งกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี การผิดกฎเกณฑ์ ระเบียบประเพณี ของผู้อยู่คนละซีกโลก เพราะดินฟ้าอากาศ เชื้อชาติ ผิวพรรณแตกต่างกัน ผู้รู้ย่อมเห็นเป็นธรรมดาความเคยชิน ในธรรมชาติแตกต่างกัน กฎเกณฑ์ ระเบียบ ประเพณี สังคม สมาคม ส่วนมากให้บัญญัติคล้อยตามธรรมชาติธรรมดา ทุกข์จึงทุเลาเบาบางไม่โหดนัก ครั้นนานเข้าจิตส่วนมากจึงยึดติด ขนบธรรมเนียม ประเพณี ระเบียบแบบแผนต่างๆ หลงสมมุติ จิตจึงปรุงแต่งแข่งขันกันมาก เพราะมีปัญญาอวดความสามารถ ประกวดแข่งขันตกแต่งปรุงแต่งกันมากขึ้น จึงหลงติดกับการปรุงแต่งนั้น

                ส่วนพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ เป็นการแก้ไขความทุกข์ เพื่อความพ้นทุกข์สิ้นเชิง! ในสิ่งที่มีความยึดถือ ปรุงแต่งกันอยู่มากนั้นให้เป็นมัชฌิมาพออยู่สบาย และกลับเข้าหาสิ่งอันเป็นธรรมชาติ ธรรมดาที่ไม่มีพิษภัยอันตราย จนจิตเข้าถึงจิตเดิมความสะอาด

                ไม่มีอารมณ์ปรุงแต่งใดๆ มาทำจิตให้หวั่นไหวเป็นทุกข์ได้  จิตได้รับการฝึกหัดอบรมตามพระธรรมวินัยแล้ว ยอมรับธรรมชาติธรรมดา เป็นสภาวะธรรมอันเป็นจริง จนจิตเข้าถึงธรรมชาติ ธรรมดา คือความสงบ ธรรมชาติไม่ได้เจตนาเบียดเบียนใคร ธรรมชาตินั้นเที่ยงตรงอยู่เสมอ  แต่จิตที่ได้ปฏิบัติเรียนรู้พระธรรมวินัย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว อยู่เหนือธรรมชาติ อยู่เหนือการปรุงแต่งจากสิ่งธรรมดา  เพราะได้เรียนรู้ความทุกข์จากการมีอุปาทาน ความยึดถือมั่นการปรุงแต่งนั้น

                ส่วนผู้ฝึกอบรมที่ยังไม่เสร็จ จิตก็ค่อยๆ เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ฝืนธรรมชาติ จิตที่ไม่ยอมรับการฝึก ก็ฝืนธรรมชาติบ้าง ตามธรรมชาติบ้าง จึงได้สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นธรรมดา ผลที่จิตพิจารณาธรรมชาติแล้วรู้ ! ดับอารมณ์ธรรมชาติ ดับการปรุงแต่งธรรมชาติ จึงดูอยู่อย่างสงบ ดูธรรมชาติได้รู้ธรรมดา ความเกิดดับของธรรมชาติเป็นไปตามธรรมดา ปล่อยธรรมชาติให้เป็นไปตามธรรมดา ดังนี้แล
หมายเหตุ

                เล่าถวายหลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต เฉพาะเรื่องกายเป็นกลาย เป็นตัวอนิจจัง เป็นมหาภูตรูป รูปใหญ่ เวทนา จิต ธรรม เป็นอุปาทายรูป รูปอาศัย เมื่อกายกลายเป็นอนิจจัง  เวทนา จิต ธรรม จึงอนิจจังไปตามกายด้วย! ส่วนที่รู้มีความหวั่นไปตามความรู้สึกของอารมณ์รู้และสงบระงับ!

                หลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต พูดว่า อุบายปัญญาของท่านดีเป็นธรรมมีจริง และควรทำจิตให้รวมเต็มฐานของสมาธิ ปัญญา ที่รู้ของท่านจะเป็นประโยชน์มาก ให้กรรมฐาน เพ่งกระดูกหน้าอก พร้อมภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆ ก่อน ๓ ครั้ง และภาวนาพุทโธไปด้วย เห็นกระดูกหน้าอกไปด้วย
Share