บันทึกธรรม 1

พิจารณาธรรม วันศุกร์ที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓
เวลา ๒๐.๕๑ น.
                ความสมดุลต้องมีคู่! ความยุติธรรมต้องหยุด! หยุดเฉพาะผู้เดียวก็ได้ ต้องมีผู้อื่นก็ได้ ถ้าไม่ให้ความยุติธรรมแก่ตัวเอง ก็ต้องให้ความยุติธรรมกับผู้อื่น จึงจะเกิดความสมดุลพอดี และเป็นความสุขด้วย เป็นผู้ถึงความพร้อมด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร มีทาน ศีล ภาวนา หรือมีศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะทำกิเลสตัณหา หมดสิ้น สำเร็จได้ดังใจปรารถนา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่เป็นอุปสรรคเครื่องกีดขวาง หรือเป็นอันตรายแก่การปฏิบัติธรรม หรือการทำคุณความดี กลับเป็นเครื่องมือสนับสนุนจิต ให้จิตสำเร็จผลสมความปรารถนา

                เพราะรู้จักทำให้เกิดประโยชน์ จะเห็นรูป ฟังเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ เย็นร้อน อ่อน แข็ง รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจก็เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ได้รับพิษคือโทษ ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มาเป็นอารมณ์เกาะกินใจได้ เห็นรูปงามก็พิจารณาให้เห็นเป็นรูปไม่งามได้ เห็นรูปไม่งามก็พิจารณาให้เห็นธรรมเกิดความสลดสังเวชได้ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีนัยยะการพิจารณาเป็นเช่นเดียวกัน   
  
                รูปไม่งาม เสียงไม่เพราะหู กลิ่นไม่หอมจมูก รสไม่อร่อยลิ้น โผฏฐัพพะเย็นร้อนอ่อนแข็งสัมผัสไม่ดีกาย ธรรมารมณ์ไม่เป็นที่ประทับใจ ก็รู้ซึ้งถึงความแตกต่างแห่งกรรม บุญวาสนา และความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วางจิตอุเบกขาวางเฉยในอารมณ์ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ทำใจให้เป็นธรรม พิจารณารู้ธรรม มีใจสงบระงับด้วยธรรมและความสังเวช ปลง ด้วยเห็นเป็นความจริงในที่สุด สุดท้ายของรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์  รู้ทุกระยะของการพิจารณา  มีความเข้าใจทุกระยะของความเปลี่ยนแปลง  ของสภาวะธรรมเป็นธรรมชาติของรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ธรรมารมณ์ทั้งหมด

                ด้วยการมากำหนดรู้สมมติของรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ เย็นร้อนอ่อนแข็ง ธรรมารมณ์  สิ่งต่างๆเป็นจริง  จึงหายความอยาก หายโกรธ หายความลุ่มหลงมัวเมา และหายจากความประมาทในสิ่งต่างๆ ในโลกเสียได้ จิตจึงมีความสงบเย็น  ไม่เดือดร้อนรำคาญเหมือนดังแต่ก่อน เพราะมีความเข้าใจเป็นธรรม ของรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ เย็นร้อนอ่อนแข็ง (ธาตุ) ธรรมารมณ์ทั้งหลาย มีลักษณะเป็นจริงเช่นนี้เอง

                เมื่ออุเบกขาวางเฉยรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ธาตุเย็นร้อนอ่อนแข็ง  ธรรมารมณ์ ให้ล่วงกาล ผ่านวัย ผ่านความรู้สึก ผ่านความเห็น ไม่มีความนึกคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ธาตุเย็นร้อนอ่อนแข็ง ธรรมารมณ์
สิ่งเหล่านี้เป็นธรรม มีจริงเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา ต้องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีที่สิ้นสุด ไม่เหลืออะไรไว้ จึงไม่มีพิษเป็นภัย

                เป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรม ต่อพรหมจรรย์ และจะส่งเสริมพรหมจรรย์ให้มั่นคง พรหมจรรย์จึงบริสุทธิ์ผุดผ่องตราบเท่าทุกวันนี้ ความพิจารณาเห็นรูปเป็นต้น ตามเป็นจริงอย่างนี้จึงเป็นมรรค เป็นหนทางเข้าถึงความดับทุกข์ พ้นทุกข์ สิ้นทุกข์ อาศัยรูป เป็นต้น เป็นมรรค เป็นทางดำเนินการพิจารณา

                เอารูปเป็นผล! คือความได้พ้นไปจากรูปเป็นต้น ไม่เกี่ยวข้องด้วยรูปเป็นต้น วางเฉยให้รูปผ่านพ้นไป ไม่กังวลในรูปเป็นต้น จึงไม่มีห่วง ไม่มีทุกข์เพราะรูป รูปนั้นก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป เหมือนรูปมายา มาปรากฏให้เห็น ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนต่อมน้ำ เกิดแล้วก็ดับ เหมือนพยับแดดระยิบระยับ ดูไกลๆ ก็เห็นเป็นรูปร่างลักษณะเป็นจริงเป็นจังสวยงาม พอได้เข้าใกล้แล้วก็ว่างเปล่า รู้ความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายแล้ว ไม่มีสาระแก่นสารอันใด

                จึงทราบชัดว่า ทุกข์เกิดจากความเห็นผิด เกิดจากความเข้าใจผิด คิดเห็นเป็นจริงจัง เป็นของพอใจ ถูกใจติดใจ จึงมีความมั่นหมายในรูปเหล่านั้น ครั้นได้เข้าถึง รู้ถึง เห็นความเป็นจริงเฉพาะหน้า ปรากฏว่า รูป เป็นต้นเหล่านั้น เสื่อมสลายที่สุดก็ว่างเปล่า อยู่ไกลก็เห็นอย่างหนึ่ง  อยู่ใกล้ก็รู้เห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความรักใคร่พอใจเป็นความผูกพันระหว่างใจกับอารมณ์ ความไม่พอใจเป็นความผูกพันพยาบาทระหว่างใจกับอารมณ์ ความรู้จริงเห็นแจ้งในใจในอารมณ์ แล้วจึงมีอุเบกขาวางเฉยในใจ วางเฉยในอารมณ์ ความคลายในใจ ในอารมณ์  จึงไม่ปรากฏความยินดียินร้ายในใจในอารมณ์  เพราะมีความรู้เห็นรูปเป็นต้น ตามความเป็นจริง รู้เห็นรูปจนมีความเคยชิน ไม่ว่าอยู่ที่ไหน รูปเหล่านั้นจึงไม่เป็นที่สนใจ รูปเป็นต้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งภายในทั้งภายนอก

                ความรู้เห็นพร้อม ด้วยปัญญา ญาณ รอบรู้เห็น ความเกิดของรูปเป็นต้น ความดับของรูปเป็นต้น ความที่ใจฟุ้งซ่านเป็นไปต่างๆ เพราะอาศัยรูปเป็นต้นเป็นปัจจัย  ใจจึงถึงความมีทุกข์เป็นทุกข์ด้วย รำคาญด้วย ทุกขณะที่รูปเป็นต้นเหล่านั้นเปลี่ยนแปลง ความไม่พอใจ ความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท จึงเกิดขึ้น  เพราะความหลงมัวเมาในรูปเป็นต้นนั่นเอง เป็นเหตุให้มีความประมาทหลงลืมตน เกิดความยุ่งยากลำบากใจ ไม่สามารถกลับทำให้รูปเป็นต้นเหล่านั้นให้เป็นที่ตั้งความพอใจ ความยินดี จึงรู้เห็นได้ถึงความไม่พร้อมของสติปัญญา และความสมบูรณ์ในเรื่องของความรู้ ความฉลาดไม่ทันรูปเป็นต้น โง่เขลา! กว่ารูปเป็นต้น จึงเป็นโมหะอวิชชาความหลงไม่รู้เท่าทันรูป

                แท้จริงรูปเป็นอวิชชา  รูปเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา รูปอาศัยสัญญา รูปเป็นที่ประชุมสังขาร รูปอาศัยวิญญาณความรู้สึก  จึงเป็นได้ทั้งรูป ทั้งนาม! แม้รูปในนาม แม้นามในรูป ก็อาศัยวิญญาณความรู้สึก ถ้าดับวิญญาณ ความรู้สึกดับ นามรูปก็ดับไปเอง ไม่ต้องไปดับที่รูป! ที่นาม! ดับความรู้สึกที่ใจ  เมื่อดับความรู้สึกที่ใจได้แล้ว สังขารการปรุงแต่งรูปนามก็ดับ เมื่อสังขารคือ ตัววิตกวิจารณ์ดับ อวิชชาตัวรูปนามก็ไม่ตั้งอยู่ในความรู้สึกได้ จิตใจก็ถึงความสงบวิเวก ปราศจากธุลีกิเลสของรูป มาเปื้อนเปอะเลอะใจ ใจจึงบริสุทธิ์ผ่องใส เพราะปราศจากรูปอวิชชานั่นเอง เมื่อรูปอวิชชาไม่มีเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธาตุเย็นร้อนอ่อนแข็ง ธรรมารมณ์ อันเป็นส่วนนาม อาศัยรูปเป็นอยู่ก็พลอยหมดดับระงับหายไปด้วยกัน ทั้งรูป ทั้งนาม

                เพราะรูปเป็นมหาภูตรูป รูปใหญ่ ส่วนเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธาตุเย็นร้อนอ่อนแข็ง ธรรมารมณ์ หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเวทนา จิต ธรรม ! เป็นอุปาทายรูป รูปอาศัย หมายถึง นามอาศัยรูป! ท่านจึงว่านามรูป! เมื่อรูปดับหรือมหาภูตรูปดับ! นามคืออุปาทายรูป รูปอาศัยก็ดับ  ความเป็นรูปอวิชชาก็ดับ ไม่มีบทบาทของรูปที่จะแสดงต่อไป

                ทีนี้รูปในนาม! ได้แก่ รูปที่อาศัยความรู้สึกในนามนั่นเอง รูปจึงตั้งอยู่ได้ มีรูปอยู่ได้ ถ้าหมดความรู้สึกเมื่อใด ก็หมดไม่มีรูปเมื่อนั้น ถ้าไม่มีความรู้สึกระลึกถึงรูป แม้รูปเหล่านั้นมีอยู่ มีก็เหมือนไม่มี!

                เมื่อพิจารณาความพร้อมแห่งรูปเป็นต้น ความพร้อมของสติปัญญาญาณความรู้รอบสมบูรณ์ ก็จะตัดอารมณ์ รูปารมณ์ได้เฉียบขาด หมดอำนาจเหนือใจ รูปารมณ์สัมผัสกระทบสติปัญญาญาณเข้าก็ดับไป ไม่เข้าไปถึงจิตถึงใจ ใจก็ว่างเปล่าจากอารมณ์ ไม่มีรูปารมณ์ ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ มีแต่ธรรมสัมผัสใจ

                เมื่อตัดรูปหรือกายด้วยสติปัญญาญาณได้แล้ว ก็เป็นอันกำจัดตัวสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ารูปเป็นตัวตน ตัวตนเป็นรูป รูปมีอยู่ในตัวตน ตัวตนมีอยู่ในรูป เป็นอันกำจัดรูปกิเลส รูปตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลงในรูปกรรม! คือ การงานที่ต้องทำในรูป ก็หมดภาระทางใจในการแบกหามหรือยึดถือ  ก็ถูกถอนความรู้สึกในรูปขึ้นเสียแล้ว รากเหง้าใหญ่ได้ขุดขึ้นเสียแล้ว รากฝอย คือ เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ธาตุเย็นร้อนอ่อนแข็ง ธรรมารมณ์เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเวทนา จิต ธรรม อันเป็นส่วนนามก็เป็นอันถูกถอนขึ้นพร้อมกับรากใหญ่ คือ รูปนั่นเอง นามขันธ์ ๔  นามขันธ์ ๕  นามขันธ์ ๓ ก็หมดฤทธิ์สิ้นเดช หมดอำนาจวาสนา ถูกกำจัดไปโดยไม่รู้สึกตัว เหมือนรากแก้วใหญ่ขาดสิ้น ก็ค่อยๆ ตายไปเอง เพราะนามเหล่านี้ยึดเกาะรูปอย่างเหนียวแน่น ฝากเป็นฝากตายกับรูปทีเดียว เหมือนปลาติดหลังแหก็พลอยตายไปด้วย รูปเป็นอุปสรรคของพรหมจรรย์ ก็ตายไปอย่างสิ้นเชิง หมดรูป หมดร่าง นางตัณหา นางราคา นางอรดี ก็ถึงซึ่งความตายไปด้วย จึงพบพระพุทโธ พระธรรมโม พระสังโฆ ที่อยู่เป็นส่วนต่างหากนอกไปจากกิเลส ตัณหา อาสวะ อวิชชา พระไตรรัตน์เหล่านั้น ต่างก็ได้มาบังสุกุล พิจารณาดูรูปกิเลส รูปตัณหา รูปอาสวะ รูปอวิชชา แล้วก็เบื่อหน่าย คลายความรัก คลายความยึดถือ  คลายความต้องการในรูป แล้วก็ไปสู่นิพพาน ทิ้งรูปเป็นต้นเหล่านั้นให้เน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา พิจารณารู้เห็นไปตามนี้ อาจที่จะเพิกถอนกิเลส ตัณหา อวิชชาเสียได้ จะเป็นผู้เข้าถึงความสงบสุขอันไม่กำเริบ เป็นผู้เย็นใจเย็นกาย เป็นผู้มีใจมีกายสงบ  เพราะความสิ้นอาลัยแห่งรูปตัณหา เสียงตัณหา กลิ่นตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพะตัณหา ธาตุเย็นร้อนอ่อนแข็ง ตัณหา ธรรมตัณหา!

                เพราะจิตเดิมไม่มีโลภ โกรธ หลง ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ จึงไม่มีการผิดศีลธรรม แต่เมียจรมา ลูกจรมา สามีจรมา ทุกสิ่งทุกอย่างจรมา มาพบมาเจอกันเข้า อุปาทานเข้ายึดถือเป็นอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ เย็นร้อนอ่อนแข็ง  ธรรมารมณ์จึงติดแน่นกับใจ กิเลสตัณหาจึงมีมาตามกัน ยกโขยงมากันเป็นครอบครัว  ความเศร้าหมองใจไม่บริสุทธิ์เป็นด้วยเหตุนี้

                การทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ต้องคิดพิจารณาสิ่งที่มีในจิต เป็นทุกข์เกิดขึ้นในจิต มีอะไรก็พิจารณาหาเหตุผลเพื่อละสิ่งนั้น  ทำความรู้สึกกับจิตที่มีอารมณ์ห่วงใย กังวลอาลัยอาวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มี พร้อมด้วยความคิดรู้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อน! เพราะเหตุนั้นสิ่งเหล่านั้นที่มีอยู่เจ้าสมควรไปเสียเถิด เจ้ามาอย่างไรจงกลับไปตามทางเดิมของเจ้า!

                จิตไม่มีอะไรในจิต ความบริสุทธิ์ผ่องใสบังเกิดขึ้นตามเดิม จึงไม่สมควรมีอะไรในจิต ไม่สมควรมีอารมณ์ทั้งหลายเก็บไว้ เพียงตั้งจิตรู้จุติปฏิสนธิจิตเท่านั้น ร่างกายสมมติว่าเป็นเนื้อหนังมังสาของพ่อแม่ จึงไม่ใช่ของเรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหมายว่าเป็นเพียงของยืมเท่านั้น แล้วต้องคืนธาตุคืนโลกเขาไป ไม่ควรยึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ หน่วงเหนี่ยวอะไรเอาไว้ เพราะเป็นของเสื่อมคุณภาพทั้งนั้น ไม่จีรังยั่งยืน เหมือนคบเพลิง เห็นได้สว่างได้เพียงระยะหนึ่ง แล้วไหม้เผาหมดไป จึงเป็นของชั่วคราวดุจเขียงสับเนื้อ ก็สึกกร่อนร่อยหรอหมดไป  สัตว์สิ่งของทั้งปวง ทั้งหมดในโลก มีลักษณะเป็นเช่นเดียวกัน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เสื่อมสลายจนใครๆ ก็จำไม่ได้ ที่เรียกว่าอนัตตา เพราะว่าไม่เป็นของตนจริงจึงต้องทิ้งไป บ๊ายบาย!! เหลือจิตรู้เป็นเอกัคคตาจิต เอกัคคตาธรรม มีความสงบเป็นธรรมารมณ์ เป็นวิหารธรรมที่จิตอาศัยวิเวกอยู่ มีธรรมความรู้เป็นเครื่องอยู่ มีความสมดุล มีความยุติธรรม เป็นธรรมเตรียมพร้อม มีความสามัคคีธรรม ภัยธรรม พร้อมเสมอด้วยสติปัญญาญาณ ความรู้รอบในกิเลส ตัณหา และความทุกข์ จึงทำกิเลส ตัณหา ความทุกข์ให้หายไปจากจิตใจโดยชอบสิ้นเชิง เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล

                “ดูก่อนภิกษุ เธอทั้งหลายพึงพิจารณา ความสิ้นความเสื่อมนั้นให้มาก แล้วเธอทั้งหลายจะสิ้นอาสวะในอัตภาพนี้ และอย่าประมาทในธรรมทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเอาใจใส่ ปฏิบัติรักษาไว้จนตลอดชีวิต เพื่อประโยชน์ต่อชนทั้งหลายเป็นอันมาก”
Share