บันทึกธรรม 3

พิจารณาธรรม วันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

เวลา ๐๖.๑๕ น.

               

          “จิตละโมหะความหลง? ต้องทำใจวางเฉยอุเบกขา เพราะได้รู้เหตุรู้ผล รู้บุญรู้บาป รู้ดีรู้ชั่ว รู้คุณรู้โทษ รู้จักประโยชน์ไม่ใช่ประโยชน์ รู้แล้วอุเบกขาวางเฉย เป็นตัวละโมหะอวิชชา               

          “อนาลโย จิตไม่มีอาลัยในจิต จิตไม่มีอารมณ์ในจิต จิตไม่มีอุปาทานความยึดถือ จิตไม่มีอาลัยด้วย จิตไม่มีอาวรณ์ด้วย จิตจึงมีวิมุติ หลุดพ้นจากอารมณ์ และสรรพสิ่งทั้งปวง               

          “ตาเห็นก็ระดับหนึ่ง คิดเห็นก็ระดับหนึ่ง ทั้งรู้ด้วยทั้งเห็นด้วยก็ระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีความปรารถนาต้องการที่จะเห็น ไม่มีความรู้สึกที่จะเห็น ไม่มีความตั้งใจในการที่จะรู้เห็น  ก็ว่างเปล่าจากอารมณ์รู้ ธรรมที่ควรรู้ ความรู้สึกนึกคิดที่ควรได้ประโยชน์ควรได้รับ อันเป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นธรรมที่ควรได้ควรถึง               

          “ศัตรูหรืออุปสรรค เป็นผู้ฝึกเรา เป็นผู้สร้างเรา ให้มีสมรรถภาพ ทำให้เรามีไหวพริบ ทำให้เกิดปฏิภาณ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ทำให้มีขันติ ทำให้มีปัญญา คิดค้น ทำให้รอบคอบ ทำให้รู้จักหาสิ่งที่ชดเชย ทำให้เราไม่ประมาท นอนใจตื่นตัว ทำให้รู้จักคุณค่าของสิ่งที่เสียไป ทำให้สร้างประโยชน์มากขึ้น ทำให้มีความสุข  เพราะการฝึกตนให้ดีแล้ว ทำให้ปลงวางได้เร็วขึ้น เพราะได้อาศัยศัตรูและอุปสรรคทำการทดสอบมาแล้ว ทำให้รู้จักระมัด ระวัง  เกิดความเพียร มีปณิธานแน่วแน่ ทำให้พ้นทุกข์ได้               

          “การทำงานเป็นการบำเพ็ญทุกข์บารมี ผู้ทำงานมักไม่มีเวลาพูด ผู้มีเวลาพูดมักไม่มีเวลาทำงาน บุคคลทำอะไรไม่สำเร็จ ขาดสัจจะ ไม่มีอุดมการณ์ วันนี้ตัดสินใจ พรุ่งนี้เปลี่ยนใจ ง่ายต่อมารแทรก ก้าว ๒ ก้าว ถอยหลัง ๓ ก้าว พวกนี้ไม่อยู่ในสายตาของเทพพรหม” (เทพท่านเตือนมนุษย์)              

         คุณความดีของศาสนา คุณความดีของบิดามารดา คุณความดีของมนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย คุณความดีของงานที่ทำ ๓ อย่างนี้ ใครรู้จักก็เป็นผู้สร้าง ผู้อุปถัมภ์ ผู้รักษา ผู้บำเพ็ญประโยชน์  ถ้าไม่เห็นคุณความดีก็เป็นผู้ทำลาย         

         “พระสาวกเกิดมาจากตระกูลต่างๆ อันเป็นแหล่งปุถุชนเมื่อได้เกิดดวงตาปัญญาเห็นธรรม มีธรรมแล้วก็มีความรุ่งโรจน์ด้วยปัญญาญาณนั้น จึงอยู่เหนือความคิดปุถุชน”            

         ผู้ทำบาป แล้วมีอกุศลเจตนา พอใจ ยินดีบาปของตนอีก เป็นการทำบาปเพิ่มเติมอีกเป็น ๒ เท่า  ๓ เท่าฉะนั้นผู้มีปัญญาทั้งหลาย ผู้มีความละอายบาป อย่าพึ่งยินดี พอใจในบาปของผู้อื่นเลย พึงแผ่เมตตากรุณา ในผู้บาปนั้นเถิด เพราะถ้าพอใจ ยินดี บาปของผู้อื่นแล้ว ก็เป็นการโมทนาบาปนั่นเอง จึงเป็นผู้มีส่วนแห่งบาปพลอยได้รับบาปกับเขาด้วย จงงดเสียเถิดท่านทั้งหลาย อย่าพอใจยินดีในบาปนั้นเลย       

         “ประสพสิ่งไม่น่ารัก ไม่ปรารถนาชอบใจ ก็อยากให้สิ่งนั้นพ้นไป สิ้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าอันงาม ทรงตรัสสอนให้รู้ทันตัณหาความอยาก  ที่เป็นต้นเหตุอันสำคัญ พากันทุกข์ร้อนวุ่นวาย ฝึกหัดอบรมใจให้อยู่เหนืออารมณ์ ไม่ตกเป็นทาสของตัณหาตลอดกาล”

Share