วิญญาณธาตุ

พิจารณาธรรม วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔  
เวลา ๒๑.๒๓ น.
                ๖. วิญญาณธาตุ  ธาตุรู้มีความรู้สึก เรียกวิญญาณ  วิญญาณความรู้สึกภายใน ๖  วิญญาณความรู้สึกภายนอก ๖  วิญญาณความรู้สึกภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณความรู้สึกภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
                วิญญาณ ความรู้สึกเกิดขึ้นที่ตา ขณะเห็นรูป ความรู้สึกเกิดขึ้นที่หู ขณะได้ยินเสียง ความรู้สึกเกิดขึ้นที่จมูก ขณะได้กลิ่น ความรู้สึกเกิดขึ้นที่ลิ้น ขณะได้รู้รส ความรู้สึกเกิดขึ้นที่กาย ขณะได้กระทบโผฏฐัพพะสัมผัส ความรู้สึกเกิดขึ้นที่ใจ ขณะได้รู้ธรรมารมณ์
                วิญญาณ ความรู้สึกเกิดขึ้นที่จิต ที่มีการกระทบสัมผัสกันแล้ว เป็นธรรมารมณ์ รู้ตามสัญญา รู้ตามอาการ รู้ตามลักษณะ ท่าทาง รู้ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียน รู้ตามจิตจินตนาการ รู้ตามสมมุติบัญญัติทั่วไปมีวิญญาณความรู้สึก ตามที่ได้เห็น ได้ยินได้ทราบได้รู้สึก ได้รู้ตามเห็นตามที่ได้ปฏิบัติตามให้มีให้เป็นขึ้น เรียกว่า ภาวนาก็ได้
                วิญญาณความรู้สึก ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาตลอดใช่ไหม?  ใช่! รู้ตามสัญญาจริงไหม? จริง! วิญญาณมีลักษณะรู้สึก ตามที่ได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสกับอารมณ์ รู้ตามสัญญาอารมณ์ รู้สึกแล้วปรุงแต่งไปตามอารมณ์ จะเป็นอตีตารมณ์ อารมณ์อดีต ปัจจุบันนังอารมณ์ อารมณ์ปัจจุบัน และบางคราวอาจรู้สึกได้ในอนาคตอารมณ์ อารมณ์อนาคต อันเป็นความรู้สึกของวิญญาณอย่างสูง อนิจจังไม่เที่ยงใช่ไหม? ใช่!
                 ถ้ามีสติสัมปชัญญะดี ก็มีความรู้สึกได้ตลอด ที่มีการกระทบสัมผัสใช่ไหม? ใช่!รู้สึกได้ตลอดมีไหม? มี!
รู้สึกได้ไม่ตลอดมีไหม? มี! รู้สึกแล้วทำเป็นไม่รู้ได้ไหม? ได้! รู้สึกแล้วก็มีใช่ไหม? ใช่ ! รู้สึกแล้วไม่เอาก็มีใช่ไหม ? ใช่ ! รู้สึกบางทีก็รู้ภายในใช่ไหม? ใช่ ! รู้สึกบางทีก็รู้ภายนอกใช่ไหม? ใช่! รู้สึกบางก็รู้ทั้งภายในภายนอกใช่ไหม? ใช่ ! รู้สึกแล้วอุเบกขาวางเฉยได้ไหม? ได้ !
                 ถ้าประสาทหรือกายะประสาททั้ง ๖ หรือทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในภายในตายไปเสีย ชำรุดเสีย พิการเสีย จะรู้สึกได้ไหม? ไม่ได้! แล้วตัวรู้ที่อาศัยประสาทสัมผัสหรือกายะประสาทสัมผัสหายไปไหน? หายไปที่จิตไม่รู้สัมผัส! ถ้าประสาทเสียหมด! ตายหมด! มันก็ว่างเปล่าทั้งหมด เพราะไม่มีวิญญาณความรู้สึกใช่ไหม? ใช่! มันว่างไปแล้ว ส่วนนั้นใช่ไหม? ใช่! ไม่มีวิญญาณความรู้สึกได้เลยจริงไหม? จริง! เป็นอนัตตาว่างเปล่าจากตัวตนได้ไหม? ได้!
                จิต มีอุปาทานยึดถือวิญญาณความรู้สึก ในความรู้สึกทั้งภายใน ทั้งภายนอกเป็นทุกข์ไหม? เป็น! จิตในจิตที่ยังอยากรู้สึกเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ใช่ไหม? ใช่!
                จิตพิจารณาจิต จิตรู้สึกในจิต รู้สึกในความรู้สึก ที่มีขณะจิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไปของจิต ของความรู้สึกที่จิตจนถึงความสงบระงับจิต สงบระงับความรู้สึกที่จิต เป็นนิโรธะ ความดับทุกข์ที่จิต ตัณหาความรู้สึกอยากหมดไปเหลือเป็นความเป็นเองของจิต ที่มีความรู้สึกอุเบกขาวางเฉยโดยธรรมชาติ ไม่ยึดถือแต่มีความพอดีของจิต ของความรู้สึก เป็นมรรคจิต ที่จิตถอนออกจากอุปาทาน ที่ยึดมั่นในความรู้สึกทั้งหลาย ทั้งภายในทั้งภายนอก ในขณะจิตเดียวที่พ้นจากความรู้สึกผูกพันของวิญญาณความรู้สึก
                จิตสงบระงับความรู้สึกโดยชอบ ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ ไม่หวั่นไหวกับความรู้สึก ธาตุทั้ง ๖ แม้มีอยู่ก็เหมือนไม่มี  ความรู้สึกในธาตุทั้ง ๖ ที่เคยมีว่าเป็นเรา เป็นของเรา เราเป็นธาตุ ๖ ธาตุ ๖ เป็นเรา  เรามีอยู่ในธาตุ ๖ ธาตุ ๖ มีอยู่ในเรา หมดความสงสัย สักกายทิฏฐิก็พลอยสิ้นไปด้วย ความลังเลสงสัยในธาตุ ๖ ก็ดับ  สีลพตปรามาสก็ไม่มี  กามราคะ ปฏิฆะ  ก็ไม่กระทบก่อกวน รูปราคะ อรูปราคะ ก็เป็นสิ่งธรรมดา อุทธัจจะก็หายฟุ้งซ่าน  มานะอวิชชา ก็อุเบกขาวางเฉยด้วยความรู้ จิตสงบมีญานรู้ในความรู้ พ้นจากความเป็นทาสของอารมณ์ ๖  ของธาตุรู้ ๖ อยู่ด้วย ใจสบาย  สงบ สงัด วิเวกจิต  ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นวัตถุธาตุ  จัดเป็นรูปธรรม อากาศวิญญาณ จัดเป็นนามธรรม เพราะเนื่องกับจิตและสัมพันธ์กับกาย จึงปรากฏเป็นรูปธรรมนามธรรม
                เป็นรูปเป็นนาม เป็นนามรูป รูปนามขันธ์ ๕  ในปัจจยาการ ท่านจัดเอานามไว้หน้า เอารูปไว้หลัง สมมุติเรียก  นามรูปเพราะอะไร? เพราะเอานามจิตความรู้สึกส่วนรู้เป็นสำคัญ ส่วนรูปหรือกาย เอาไว้เป็นบ่าวรับใช้จิตเจ้านาย !
                มีความรู้แต่ไม่ใช้ความรู้จะดีไหม? ไม่ดีค่ะ! ผู้มีความรู้ใช้ความรู้ซะหมดเลยดีไหม? ไม่ดีค่ะ! ความฉลาดพบกับความเฉียบขาด ผลเป็นไง ก็จ๋อยไปนะซิคะ! แฮ่!! ใครมีความรู้ก็วิจารณ์ได้ ใครไม่มีความรอบรู้ก็วิจารณ์บ่ได้ฮิ!! คนที่มีความรู้แล้วไม่วิจารณ์คงมีไม่ใช่เหรอ!! แฮ่!! คนดีด้วย เก่งด้วย มีความรอบรู้ด้วย มีความชำนาญด้วย เป็นยังไง! ก็ดีมากๆ !! คนดีมีศีลธรรมพ้นทุกข์ได้เป็นผู้ประเสริฐ วิญญาณ ความรู้สึกภายในวิญญาณ ความรู้สึกภายนอก เมื่อถึงกาลสมัยก็แปรไปเป็นอนัตตา ด้วยประการดังนี้แล
Share