รวมธรรมะท่านพระอาจารย์นพพร อาทิจฺจวํโส 

ในการที่จะละ 

๑. ทำจิตให้อุเบกขาวางเฉยในสรรพสิ่ง 

๒. ทำจิตให้ละอุปาทานความยึดถือ ไม่ยึดถือมั่นในสรรพสิ่งใด 

๓. ตนเองต้องทำจิตตนเองให้หลุดพ้นทุกสรรพสิ่ง!

          ''ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นอุปาทาน เป็นสัญญาอารมณ์ สัญญาอดีต จิตที่ไปถ่ายรูป ถ่ายเสียง ถ่ายกลิ่น ถ่ายรส ถ่ายโผฏฐัพพะ ถ่ายธาตุเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เอาไว้ จึงเป็นทุกข์กับอดีต! ถ่ายเก็บไว้เป็นธรรมารมณ์ฝังแน่นอยู่ในจิต รู้แล้วก็เก็บไว้ดู แต่ไม่นำมาใช้ ให้เกิดอารมณ์แบบเก่าอีก!"

          “อารมณ์ทั้งหลายเป็นอาสวะ ที่ประทับใจ ทำให้เกิดความเคยชิน จิตตั้งมั่น รู้อารมณ์ สรรพอารมณ์ทั้งหลายแล้ว ไม่หวั่นไหวกับสรรพอารมณ์ทั้งปวง จิตอยู่เหนืออารมณ์ จิตก็อยู่เหนืออาสวะนั่นเอง”

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณา ตรัสว่า จงอย่าหวาดกลัวต่ออดีต จงอย่าหวังในอนาคต จงหยุดอยู่ในปัจจุบัน อย่ามัวเสียเวลากับการวิพากษ์วิจารณ์งานของผู้อื่นนักเลย ดูงานที่สมควร ที่ตนกระทำว่าเสร็จ

แล้วหรือยังไม่เสร็จดีกว่า เพราะว่าเวลาเป็นของเล็กน้อย ความตายย่อมครอบงำย่ำยีเอาอยู่ทุกขณะ” 

          “วัฏฏะ เครื่องหมุนเวียน สงสาร คือ สงสัยในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์  เฮ้อในสิ่งทั้งหลายหมด มันเลยไม่ละวิจิกิจฉาได้ละซี่”               

          “วินโย  จะนำเสียซึ่งความชั่ว นำตนออกจากความชั่ว นำความชั่วออกจากตน รวมแล้ววินัยทั้งหลายก็สติวินโย ผู้มีสติแหละเป็นองค์วินัย”         

          “ธรรมดาบ้านเรือนมุงบังไม่ดี ฝนก็ตกรั่วรดได้  จิตของบุคคลใดมิได้เจริญสมาธิ ภาวนา อันราคะกิเลสก็เข้าย่ำยีบีทาได้ ธรรมดาบ้านเรือนมุงบังดี ฝนก็ไม่อาจตกรั่วรดได้  จิตของบุคคลได้เจริญสมาธิ ปัญญา ภาวนา อันราคะกิเลสทั้งหลาย ก็ไม่อาจย่ำยีบีทาได้”               

          “พิจารณาอารมณ์ในอารมณ์ จะพิจารณาอย่างไร?  เพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ ปัจจุบันรู้อารมณ์ปัจจุบันแล้ว พิจารณาเพื่อรู้เพื่อละอารมณ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ ที่มีอารมณ์ตกตะกอนอยู่ จนเป็นอุปนิสัย วาสนา อาสวะ ก็เป็นการพิจารณาธรรมารมณ์ที่ติดใจนั่นแหละ!”               

          “ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ธรรมดาที่เห็นรอบตัว  มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีอยู่เต็มโลกไปหมด แล้วโอปนะยิโก น้อมเข้าสู่ตัวธรรม อนิจฺจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา ที่มีอยู่ในตัวเรา ทุกคนทุกท่านทุกพระองค์ แม้แต่มาร พญามารที่สำคัญตัวว่าแน่ ก็ตกอยู่ในสภาวะ อนิจฺจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา  เช่นเดียวกับสรรพสัตว์สรรพวิญญาณ ไม่ได้อยู่เหนือกฎแห่งกรรม ยิ่งมาเบียดเบียนผู้มีศีลมีธรรมแล้ว จะไม่มีโอกาสมีศีลมีธรรมได้เลย หมดโอกาสที่จะพ้นทุกข์ หมดโอกาสที่จะได้เสวยสุข สิ้นกาลช้านาน ต้องทนทุกข์ทรมานกับอารมณ์ที่น่ากลัว”               

          “ความรักทำให้เกิดทุกข์  ไม่รักก็ทุกข์เพราะถูกต่อว่า  พรากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ไม่รักผู้อื่นรักตัวเองก็เป็นทุกข์ เพราะต้องทุกข์กับการหาเลี้ยงตน ด้วยอาหาร ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ยังเป็นทุกข์เพราะต้องแก่ เจ็บ ตายอีก น่ากลัวไหม? พวกมาร พญามารทั้งหลาย”               

          “รู้ตามตำรา รู้เท่าทันตามเขาว่า รู้แล้วหาประโยชน์ได้ รู้มีหลายอย่าง  ท่านทั้งปวง จงรู้เท่าทันชีวิตตนในความเจริญและความเสื่อม  ไม่ดีใจ เสียใจ เมื่อเป็นสุข เป็นทุกข์ เมื่อเศร้าโศก เมื่อดีใจ เมื่อล่วงโรยอับเฉา จะได้ไม่ลืมตัวเมื่อเสียน้ำตา”               

          “ผู้ใดมีความปรารถนาพระโพธิญาณ  เพื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ผู้มีความสามารถโปรดเวไนยสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ก็ดี ปรารถนาความสำเร็จผลสูงส่งใดๆ ก็ดี ผู้นั้นจงปฏิบัติชอบในบิดามารดาแห่งตน ย่อมได้สำเร็จผล ตั้งแต่ต่ำถึงสูงสุดไม่ต้องสงสัย”               

          “ธรรมดาบุคคลใด พิจารณาเห็นสังขารธรรมเป็นอนิจจัง บุคคลนั้นอาจเห็นซึ่งทุกขลักษณะ และกระทำสักการบูชาในปูชนียวัตถุ ยังเปือกตมในภพ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ให้เหือดแห้ง และบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ ให้เสื่อมสูญจากสันดานจิตตัดขาด อาสวะกิเลสสมุทเฉทประหาร บรรลุแก่พระอรหันต์อรหัตตผล”               

          “รีบเรียนอย่ารีบรู้ อย่าปักใจเชื่อในสิ่งที่รู้  อุปนิสัยดีเป็นความสำคัญของบุคคล อุปมาของผู้รู้เกิดขึ้นมา เหมือนต้นไม้ทั้งต้น ยังไม่ได้ตัดลิดรอนกิ่ง ถากปุ่มปมอีกมาก ศีลธรรมแบบแผนจรรยาบรรณ เหมือนเลื่อย ขวาน กบ ไสถากทำให้เรียบตัดแต่งเหมาะสมใช้ทำบ้านเรือน”              

          “ยุคสมัยผู้คนคบยากเชื่อยาก ให้เขาหมั่นเพียร เราต้องหมั่นเพียร ให้เขาสงบ เราต้องสงบ มีสิ่งล่อใจ ต้องให้ประทับใจ จึงปฏิบัติตาม”               

          “พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ล้าสมัย เป็นอมตธรรมเป็นแบบที่ดี”               

          “ผู้ชอบมองในแง่ร้าย หาความเจริญได้ยาก มักริษยาความดีผู้อื่น ความหนักใจ ความเลวร้ายก็จะมาสั่งสมในตัวเองมากขึ้น ไม่ควรทำ”               

          “ชีวิตน้อยนักเพียรศึกษาความดีของผู้รู้ก็ศึกษาให้จบได้ยาก ประโยชน์อะไรกับการเสียเวลากับคนเลวทรามทั้งโง่ ดื้อ อวดดีเป็นอุปสรรค มีพิษภัยไร้ค่า เสียเวลาทำประโยชน์และความดี”               

          “คนเราไม่ได้เกิดมาชั่ว มีปรารถนาชั่วก็ไม่ทุกคน ความเลวทรามต่ำช้าของคนเป็นข้อเสียหายร้ายแรง ไม่ควรมองข้าม คนทั้งโลก คนที่ดีมีศีลธรรมยังมีอีกมาก อาศัยปัญญา มีสติพบเห็นไม่ยากมีอยู่ทั่วไป คนที่เห็นความดีของเรานั่นแหละ! คือคนที่มีดี”

Share