บันทึกธรรม 4

พิจารณาธรรม วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
เวลา ๒๑.๑๐ น.

 

            นาญฺญตฺรโพชฺฌาตปสา   นาญฺญตฺร  อินฺทรียสํวรา
            นาญฺญตฺร  สพฺพนิสฺสคฺคา  โสตฺถึ  ปสฺสามิ  ปาณินํ  ธ.ขุ
            แปลว่า  เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใด ของสัตว์ทั้งหลายนอกจากปัญญา เครื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำรวมอินทรีย์ และการเสียสละทั้งปวง
 
                มองข้างหน้าคือ สิ่งที่ต้องทำ มองข้างหลังคือ สิ่งที่เป็นครู พระพุทธเอาไว้ที่ใจ พระธรรมเอามาเป็นปัญญา พระสงฆ์เอามาเป็นครูการปฏิธรรม ทดสอบ ฝึกฝนให้มากๆ ก็จะมีความแตกฉานเอง  ถึงยังไม่เก่ง ไม่ฉลาดก็ย่อมดีขึ้น ด้วยความชำนาญ เพราะเราเป็นคนสร้างเราขึ้นมา เมื่อสร้างได้ “เรา” ก็หนีได้ จงเร่งปฏิบัติให้ถูกธรรม ให้แสงธรรมนี้สว่างไสวไปตลอดทั่วทั้งโลก
 
                ถ้ารู้แล้ว ขาดการปฏิบัติสิ่งทั้งปวง ก็เสมอด้วยสิ่งไร้ค่า  มีได้ก็หมดได้ อย่ายึดถือว่าเป็นของเรา จะทำให้เกิดความรัก ความหลง มีความหวงขึ้น จะทุกข์ใจเมื่อมันจาก สิ่งที่ผู้อื่นให้อาจเป็นขนมหรือยาพิษก็ได้  บุคคลเข้ามาทางธรรมแล้ว มีการอ่านมากรู้มาก ศึกษามามากมาย สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การปฏิบัติให้มาก อย่าได้ชื่อว่าเข้ามาทางธรรมแล้วไม่ถึงธรรม  ในพระพุทธศาสนาถือความจริง มีเหตุผลเป็นสำคัญว่า สิ่งพิสูจน์ได้เป็นของแท้แน่นอน สิ่งใดไม่จริงไม่แท้ไม่ทนต่อการพิสูจน์ ด้วยเหตุผลอันชอบธรรม
 
                ทุกคนรู้ว่าศีลเป็นกฎระเบียบของศาสนา ที่จริงคนมีศีลเป็นของตัวเองนั้นรู้จักบังคับตน ให้อยู่ในกฎเกณฑ์บังคับของศาสนา ทำถูกกฎระเบียบ มีศีลเป็นจริยาวัตรแล้ว ผู้นั้นไม่ประมาทในเบื้องต้น มีศีล มีมารยาท แล้วมีสมาธิ มีภาวนา เป็นขั้นต่อไป

                สมาธิภาวนาทำใจตั้งมั่นได้ทุกขณะจิต จะชนะอารมณ์ที่ฟุ้งซ่านกวัดแกว่งไปทางอกุศล สัมปชัญญะ ตัวรู้ ผู้รู้ เป็นปัญญา มารู้ให้แก้ ไข อารมณ์ที่ยั่วยุทำจิตให้กำเริบ เป็นกิเลสคล้อยตาม
                อารมณ์ให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ รู้ธรรม ก็รู้ความจริงของโลก รู้ให้เกิดประโยชน์ รู้แล้วละ ! ไม่มีอุปาทานยึดถืออารมณ์ใดไว้ เพราะอารมณ์ทำให้เกิดตัณหาความอยากได้ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทำให้เป็นธรรมารมณ์จิตใจ อารมณ์เหล่านี้จึงปิดบังใจ ให้มืดหลงปิดบังปัญญาให้รู้แจ้งไม่ได้ จึงรักติดใจกับอารมณ์นั้น เมื่อพิจารณารักก็รักอารมณ์นั่นเองเป็นพื้นฐาน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของกิเลสเป็นรากเหง้าแห่งมิจฉาทิฏฐิทั้งปวง
                ยกตัวอย่าง เช่น รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป รูปสวยก็อยากให้สวยงามตลอดไป นึกว่าสวยอยากได้ความสวย ปรารถนาความสวยตลอดกาลนาน ก็ความสวยความงาม ความหล่อ ของทุกคนนั้นเป็นเพียงแต่นึกเอา ชอบใจ ถูกใจ พอใจ  กับอารมณ์คือรูปให้มาประทับติดอยู่กับใจ แล้วก็เพ้อคลั่งไปเองกับอารมณ์ที่เป็นเพียงธรรมารมณ์เท่านั้น

                ต้องละธรรมารมณ์ อันเป็นรากของกุศล อกุศลทั้งปวง เป็นตัวอาสวะฝังแน่น พาไปสู่ภพชาติอันยาวไกล ก็ไปตามอารมณ์ที่เป็นธรรมารมณ์ติดใจนั่นเอง นิโรธะความดับทุกข์ก็ดับอารมณ์นั่นเอง
                จงมีสมาธิตั้งมั่นแน่วแน่ที่จะดับ ! ดับนี้หมายถึงดับทั้งหมดที่เป็นอารมณ์ของโลก ต้องดับอารมณ์ทุกชนิด ให้เด็ดขาด  ต้องรู้อารมณ์ทั้งหมดอย่างแจ่มแจ้ง
                เช่น อารมณ์ที่เป็นสุขเพราะได้สัมผัสกาย มีความสุขกายสุขเพราะกายได้กินอิ่ม สุขเพราะกายได้เสพสิ่งที่สบาย เป็นความสุขของโลก สงบเพราะให้กายนอนหลับ ได้พักอิริยาบถ เปลี่ยนอิริยาบถ ได้สงบระงับเพราะอยู่ผู้เดียว เพราะทิ้งกังวลในรักทุกสิ่งในโลก ภาระทางใจ ปลง วางสิ่งที่หนักของใจก็หนักอารมณ์นี่เอง ปลงวางเสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง วิตกวิจารณ์ในอารมณ์ ไม่มีสังขารปรุงแต่งไม่ได้ เตสังวูปสโมสุโข
 
                ข้อสังเกตให้เกิดความรักของโลก รักเพราะสวยเพราะงาม รักเพราะมีหน้าที่ รักเพราะหามาได้ยาก รักแบบนี้มีภาระทางใจ ทำให้เร่าร้อนใจ ทำให้เกิดความโลภอยากได้ ทำให้เกิดความโกรธไม่สงบใจ ทำให้เกิดความหลงมัวเมาประมาท
Share