บันทึกธรรม 5

พิจารณาธรรม วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

เวลา ๒๓.๐๐ น.

                        พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละทุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ ให้ประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ และทำใจให้บริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น ข้อหลังนี้สำคัญมาก เพราะต้องทำใจให้บริสุทธิ์ ถ้าใจเลวระยำเสียแล้ว นิพพานไม่ต้องพูดถึง  การประพฤติปฏิบัติ ต้องหวังความบริสุทธิ์ ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม จะเป็นความคิดนึกก็ตาม จะเรียกว่าทุกอริยาบถ หรือทุกลมเข้าออกก็ได้ ต้องมีความรู้สึกนึกคิดทั้งธรรมและวินัย พิจารณาธรรมและวินัยอยู่เสมอ นักปฏิบัติต้องมี ๒ อารมณ์นี้เท่านั้น จึงจะเป็นผู้ชำนาญทั้งธรรมและวินัย
                การที่จะเป็นครูอาจารย์เขา ต้องมีความรู้และประสบการณ์ ต้องเคยผ่านอุปสรรคมาก การชนะอุปสรรคเครื่องขัดข้องมาได้แต่ละคราวๆ เป็นกำลังใจและเป็นอุบายมาแนะนำ ศิษย์หรือผู้สนใจ อุปมาเหมือนยาแก้โรค ได้ผลหายมาแล้วก็มาบอกหรือสอนผู้ต้องการหายจากโรคที่ทรมานเป็นทุกข์อยู่นี่ให้หาย
                 ธรรมโอสถ คือ พระธรรม คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นยารักษาโรค คือ กิเลสให้หายได้  เช่น ทรงสอนให้ละ คือการมีศีล ถ้าไม่ละก็มีเพียงสีเท่านั้น สีเหลืองสีกรัก จะมีประโยชน์อะไร ฉะนั้น การรักษาจิต หรือการเจริญจิตภาวนา ต้องละอารมณ์ที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ จะเป็นรูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นของหอม รสชาติอาหารที่อร่อย หรือการถูกสัมผัสทางกาย อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม อย่าหลงผูกพันตามคิดตามนึก เพราะเกิดเป็นอดีต มันดับไปแล้ว เป็นอตีตารมณ์ ต้องรู้พร้อมเฉพาะเกิดดับ เป็นปัจจุบันอารมณ์ หรือปัจจุบันธรรมรู้ตรงนี้ !
          เหมือนรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ยาวหรือสั้น การกระทบของลม ต้นลม กลางลม ปลายลม เมื่อรู้ทันลมได้อย่างนี้ ลมนั่นเอง ! ตัดกระแสความโลภ ความโกรธ ความหลงไปได้ เพราะใจได้อาศัยลมเป็นเหตุ ลมนั้นก็เลยฟอกใจ หรือธาตุ ขันธ์ ให้บริสุทธิ์ ลมกับใจเลยเป็นอันเดียวกัน เพราะลมหายใจเข้าออก ใจเป็นเครื่องทำลมให้เกิด ฉะนั้น ถ้าใจดีแล้ว ลม! หรืออารมณ์ก็พลอยดีตาม ถ้าใจไม่ดี ใจเสีย หรือเสียใจแล้ว ลมก็เป็นลมเสีย หรืออารมณ์เสีย อารมณ์บูด อารมณ์เน่า ของเน่า ของบูด จะมีคุณมีค่าอย่างไร เหตุนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ชำระจิต หรือใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ใจจะได้ไม่ขุ่น เศร้าหมอง ขุ่นมัว หายไปจากอารมณ์โลภ-โกรธ-หลง ด้วยประการฉะนี้แล
                เมื่อสบายใจแล้ว อารมณ์ก็พลอยสบายตาม ทุกข์ไม่มีก็อยู่อย่างผาสุก โรคภัยมิได้เบียดเบียน ก็จัดว่าเป็นผู้มีลาภแล้ว เมื่ออยู่ดีสมควรแก่อัตภาพแล้ว ก็จัดว่าอยู่เป็นสุข ผู้อยู่เป็นสุขต้องเป็นผู้ขยัน ทำกิจหน้าที่ ไม่ละเลยความเพียร เพราะเป็นกิจหน้าที่ ต้องทำทุกวันนี้ เพราะใครเล่าจะรู้วันตายแม้พรุ่งนี้ การขอร้องผัดผ่อนต่อมัจจุราชความตาย ซึ่งมีเสนามาก คือ ปัจจัยเหตุที่จะให้ตายมีมาก ย่อมไม่มีสำหรับคนขยัน  ผู้มุ่งต่อพระนิพพานแดนพ้นทุกข์
                ปัจจัตตังรู้ได้ที่ตน อย่าไปแส่รู้นอกตน นั่นไม่ใช่ทางที่ผู้รู้ทั้งหลายปฏิบัติ นอกจากไม่ปฏิบัติตามแล้ว ผู้รู้ยังตำหนิว่าผู้โง่เขลาอีกด้วย! ดีที่ผู้อื่นดี จะเป็นลูกดี เมียดี ช้างดี ม้าดี ควายดี วัวดี แมวดี หมาดี แก้วแหวนเงินทองดี ก็ยังสู้ใจของเราดีไม่ได้ เพราะของภายนอกที่ดีๆ เหล่านั้น ตายแล้วเอาไปไม่ได้ ส่วนใจที่ดีนั้น ถึงขั้นบริสุทธิ์ก็นิพพาน ถ้าใจดียังไม่ถึงขั้นบริสุทธิ์ก็ไปเกิดในสวรรค์หรือพรหมโลก
                เพราะฉะนั้นอย่าไปใส่ใจ หรือไปเที่ยวกวาดต้อนกิเลสตัณหาเหล่านั้นมาเผาใจเรา ครูบาอาจารย์ต้องตั้งหน้าพยายามประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยอย่าเลยละ!
          ให้คติที่ว่าตายเสียวันนี้ดีกว่าอยู่เป็นทาสกิเลสพรุ่งนี้ !ถ้าพยายามทำได้ตามนี้ อยู่อย่างอิสระเป็นสุข ไม่ต้องทุกข์อยู่เพราะเป็นทาสกิเลส เข้าใจหรือไม่เข้าใจล่ะ ! อย่าอยู่ซังกะตาย หรือนอนรอความตาย ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่แล้ว ต้องถือเอาสาระประโยชน์ของการอยู่ให้ได้ อย่าไปยุ่งเรื่องอะไรทั้งหมด ! เราต้องคิดว่าอาศัยเพียงชั่วคราว อย่าไปข้องเกี่ยว เดี๋ยวใจจะเศร้าหมอง อยู่จนให้เขารัก ! จากมาให้เขาคิดถึง จึงจะเป็นคนมีปัญญา ! ไม่ใช่ปัญญาอย่างเขียด ที่กระโดดไปเยี่ยวไป รู้แค่นั้น สวัสดี

Share