จิตประภัสสร

พิจารณาธรรม วันเสาร์ที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖
เวลา ๐๕.๒๔ น.

                จิตเศร้าหมองเพราะกิเลสเข้ามา จิตบริสุทธิ์โดยธรรมชาติ เศร้าหมองเพราะธรรมชาติ มีรูปธรรมชาติ มีเสียงธรรมชาติ มีกลิ่นธรรมชาติ มีรสธรรมชาติ มีโผฏฐัพพะธรรมชาติ อารมณ์พอใจทั้ง ๕ นี้มาสัมผัสจิต เกาะจิตให้เป็นธรรมารมณ์ติดใจอยู่  ถ้าจิตไม่รับอารมณ์อันเป็นอาคันตุกะที่มาเยือน จิตก็คงสงบบริสุทธิ์อยู่ เพราะไปรับอารมณ์เข้ามาเป็นธรรมารมณ์ จิตจึงเศร้าหมอง หวั่นไหวขุ่นมัว
                เปรียบลูกไม้ที่แก่สมบูรณ์ เป็นพันธุ์ชนิดดีเก็บไว้ในที่แห้ง มิดชิด ไม่ให้ถูกน้ำ ลม แดดและโอชะของดิน พืชพันธุ์นั้นก็คงบริสุทธิ์ ไม่ได้เชื้ออันเป็นที่ตั้งของการเจริญเติบโต เมล็ดพันธุ์พืชนั้นย่อมเหี่ยวแห้งไปโดยธรรมดา

                จิตไม่ยอมรับอารมณ์ไว้ ปฏิเสธเชื้อกิเลสตัณหา เพราะได้รู้อารมณ์ว่าเป็นต้นเหตุในสิ่งทั้งหลาย ทั้งดีและไม่ดี ต่างมีลูก มีหลาน มีโทษ มีทุกข์ มีสุข เป็นภัยอันตรายต่อความบริสุทธิ์  ความสงบสุข ถ้าจิตสงบปราศจากอารมณ์ได้ ก็ถึงความบริสุทธิ์หมดจดสิ้นเชิง

                 เช่น มีรูปมาก็รู้แต่ไม่รับไว้ มีเสียงมาก็รู้แต่ไม่รับไว้ มีเสียงมาก็รู้แต่ไม่รับไว้ มีกลิ่นมาก็รู้แต่ไม่รับไว้ มีรสมาก็รู้แต่ไม่รับไว้ มีโผฏฐัพพะมาก็รู้แต่ไม่รับไว้ มีธรรมารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นในจิตรู้ก็ไม่รับไว้ เพราะอารมณ์ทั้งปวงมาเป็นธรรมารมณ์ทั้งปวง เกาะจิต พอกจิต ปิดจิต ทำจิตให้เศร้าหมองสกปรก เป็นขยะอารมณ์ มะเร็งอารมณ์ที่พอกพูนเก็บกักขังหมักดองไว้ เป็นอาสวะอวิชชา ปล่อยให้เป็นกิเลสตัณหาเป็นถังขยะหัวใจ สั่งสมหมักหมม ออกลูกมีหลาน นับภพนับชาติไม่ได้ เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น นิโรธะความดับก็ดับอารมณ์นั่นเอง จึงชื่อว่าดับสนิทแห่งเชื้อ ตัณหาทั้งหลาย เป็นการดับทุกข์โดยชอบด้วยประการทั้งปวง จิตที่ไม่มีอารมณ์ว่างเปล่าอารมณ์ เป็นจิตประภัสสร
จิตเป็นสัมมาสมาธิก็อยู่อย่างอุเบกขาได้

 

พิจารณาธรรม วันพุธที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๓
เวลา ๑๓.๐๐ น.
                   จิตกับสมาธิจิต ความตั้งมั่นแห่งจิตมีอยู่ ย่อมอุเบกขาในอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ สังขารความปรุงแต่งดี-ชั่วก็หยุด  วิมุตติก็หลุดพ้นจากอารมณ์ทั้งปวง
Share