วิธีกำหนดจิตใจ

 
พิจารณาธรรม วันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔
เวลา ๑๖.๓๘ น.
                เมื่อมีสติถึงที่แล้ว อย่าด่วนเลือกเฟ้นหาอมตะธาตุเลย  เมื่อธรรมจักษุยังไม่เกิดมีดวงตา ถึงแม้จะเลือกเฟ้นหาไปก็ยังไม่เห็นหรอก เพราะเป็นของละเอียดมาก ต้องระลึกไปรู้ไป ดูไปพิจารณาไป ดูใจ พิจารณาใจ!ใจ!ใจ!ในที่นี้ไม่ได้มีตัวตน มีเรามีเขามีอะไรเลย มีแต่ความรู้สึกว่ามีธาตุรู้ประจำอยู่ ที่มนุษย์คนเราสมมุติเรียกกันว่าใจ ใจนี้แหละ! เป็นที่อยู่ของธาตุรู้ที่เรียกกันว่า ใจ ใจ ให้ทวนความรู้สึกกำหนดเอาที่ใจนั้นแหละเป็นที่หลักที่หมาย
                ทำอย่างไร? สติของเราจึงจะตัดอารมณ์สัญญาขาด สงบจริงๆ จงเพิ่มกำลังสติให้จงมาก ระลึกอยู่ที่ใจ รู้อยู่ที่ใจ อย่าให้สติเคลื่อนจากใจ ให้เอาใจนั่นแหละเป็นเป้าหมาย กำหนดรู้ และกำหนดวางเฉย ในอาการของจิตใจให้หมด ไม่เอาอารมณ์ทุกเรื่อง ไม่ฟังเสียงของสัญญา ไม่ให้สังขารปรุงแต่งนึกคิด ตลอดถึงการมีเวทนาสุข-ทุกข์ วางเฉยให้หมดสิ้น เหลือรู้ ทรงตัวรู้ไว้อย่างเดียว  เพื่อได้รู้สัญญาอารมณ์เกิดขึ้นดับลง!!!

                เมื่อกำหนดตัดกระแสอารมณ์สัญญา ตรงเข้าไปให้ถึงใจจริงๆ แล้วจิตจะสงบเอง สงบจากสัญญา จิตรู้แต่ไม่จำ! ขณะเมื่อกำหนดใจอยู่นั้น ใจที่เคยชินกับอารมณ์อาจเกิดวิตก ติดอยากออกไปกำหนดกาย ก็อย่าเพิ่งถอน ออกไปจากความรู้สึกที่ใจคิด ให้กำหนดรู้เข้าเรื่อยๆ ไปจนกว่าระงับวิตกวิจารณ์ ซึ่งเป็นตัวสังขารการปรุงแต่ง จนกว่าระงับดับสังขารสงบสุขเต็มที่ จนจิตเข้าสู่ทุติยฌานวิตกวิจารณ์ก็ดับ สังขารทางกายดับ มีปีติสุข เอกัคคตาเป็นนามธรรม ทำความคุ้นเคยอยู่กับการกำหนดเรื่อยๆ ไป ๗ วัน  ๑๕ วัน ก็ไม่ผิด เพราะมีจุดมุ่งหมาย และเป็นการภาวนาในเพื่อสะสมพลัง ให้มีความชำนาญคุ้นเคย และเพิ่มพลังให้แก่จิต แก่ตัวรู้ ถ้าจิตไม่มีพลังตัวรู้ก็ไม่มีพลัง

                เมื่อเอาใจเป็นเป้าหมาย กำหนดรู้ เหมือนเพ่งกสินเพราะใจเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทางดับทุกข์ก็อยู่ที่ใจ กำหนดใจให้รู้ใจ รู้อาการกิริยาของใจ  สังขารปรุงแต่งเกิดขึ้นจากใจ สัญญาก็จำได้ที่ใจ อุปาทานผู้ยึดถือก็อยู่ที่ใจ ธรรมชาติของจิตที่แท้จริงเป็นธาตุรู้ที่ดวงใจดวงเดียวเท่านั้น
                ที่ว่าสังขารก็ใจนั่นเองเป็นผู้รู้การปรุงแต่ง  จะปรุงแต่งทางดีทางสร้างสรรค์ หรือปรุงแต่งทางชั่วทางทำลายก็ใจนี้เอง เป็นบ่อบุญกุศลหรือบ่อบาปอกุศล ก็อยู่ที่ใจสั่งสมสภาวะธรรมทั้งปวง สั่งสมมามากทางไหนก็แสดงออกทางกรรมการกระทำในทางนั้น  โลภ โกรธ หลง ราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อวิชชา เป็นต้น หนักทางไหนก็ไปทางนั้น ไม่โลภ โกรธ หลง ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา มานะ สัมมาทิฏฐิ วิชชา ก็จิตใจนั่นแหละสั่งสมมา นับเป็นอสงไขยชาติ มีสุขมีทุกข์ปะปนคละเคล้า ทั้งดีและไม่ดี ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเราเป็นของเราจึงมีเวร มีพยาบาท รักชอบ เกลียด ชัง ก็ออกไปจากใจดวงเดียว
                ตราบใดตัดกระแสอารมณ์สัญญา หรือสัญญาอารมณ์ไม่ขาด ก็ตัดกระแสใจกระแสสัญญาไม่ขาด สติปัญญาไม่มีโอกาสเข้าถึงจิตใจจริงๆ เมื่อสติปัญญาเข้าถึงจิตใจจริงๆ  แล้ว กำหนดใจก็รู้แจ้งชัด กำหนดกายก็รู้ตามเป็นจริงได้ การรู้กายนี้นั้น ถ้าจิตหยาบ สติปัญญากำหนดรู้ก็หยาบ เพราะใจหยาบนั่นเอง ครูบาอาจารย์สอนให้กำหนดรู้จิตใจ จนใจรู้อยู่เหนืออารมณ์ เหนือสัญญาการปรุงแต่งใจ ไม่ยึดถือมั่นแล้ว การกำหนดกายก็ไม่ยากลำบากเลย

                จิตจะดับสัญญาได้ ต้องเป็นผู้ปฏิบัติพรหมจรรย์ เนกขัมมะ จนเกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิว่า  จิตกับอารมณ์  เป็นคนละอย่าง อาจแยกออกจากกันได้ เมื่อแยกจิตกับอารมณ์ได้จิตก็ย่อมไม่มีทุกข์  แล้วก็มีใจศรัทธา ปฏิบัติเพียรพยายามเพื่อแยกจิตจากอารมณ์ จนได้บรรลุสมาบัติ ๘ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ จิตวิเวกออกห่างจาก
กามารมณ์ได้ จิตบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากกิเลส ตัณหา อวิชชา มีวสีชำนาญในสมาบัติทั้ง ๘ แล้วเมื่ออธิษฐานจิตเพื่อสัญญาเวทยิตนิโรธ เพื่อจิตน้อมไปสู่การดับสัญญา และเวทนา เพื่อระงับจิตตสังขารเป็นที่ดับทุกข์ทั้งมวล
                การเจริญวิปัสสนาในฌาน การเจริญวิปัสสนาออกจากฌานแล้ว! การเจริญวิปัสสนาในฌานก็ทำได้ เพราะมีตัวรู้ทุกขั้นฌาน จิตมีเอกัคคตาจิต จิตมีเอกัคคตารมณ์อยู่ด้วยทุกฌาน  ความรู้เรื่องจิต เรื่องอารมณ์ก็ละเอียด ประณีต  รู้ได้ชัดเพราะจิตหรือใจเชื่อง เพราะมีอุเบกขา สติกำกับใจอยู่จิตไม่ส่องออกแล้ว จิตหดตัวหรือส่องรู้ข้างใน เมื่อจิตเพ่งก็เป็นฌาน จิตพิจารณาจิตก็เป็นวิปัสสนา เพราะเห็นรู้ความคิด แล้วก็เบื่อหน่ายจิตรู้ เบื่อหน่ายอารมณ์รู้ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปอย่างรวดเร็ว ในปรากฏการณ์ที่ผ่านไป ๆ
                ถ้าเจริญวิปัสสนาเมื่อออกจากฌานแล้ว ก็ใช้สติปัญญาพิจารณาองค์ฌานนั้นแหละ ตั้งแต่องค์ปฐมฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ อนิจจังทุกขังอนัตตา มีครบอริยสัจจ์ ๔ ก็มีครบ!

               ข้อสำคัญให้เก็บตัว อย่าทำความคุ้นเคยสุงสิงกับญาติโยมเกินไป ในระยะปฏิบัติตัวเริ่มแรก อารมณ์เสียเพราะการกระทบมีมาก เพราะการสังคมคลุกคลีกับญาติโยม พระเณรที่มีจิตไม่เป็นสมาธิ ไม่มีสมาธิ จิตใจก็หยาบช้า ถ้าพูดคุยไปนานๆ แล้ว ไปเดินจงกรม ภาวนา จิตใจสงบรวมลงยาก
                เป็นดังนี้ เพราะพูดคุยกับผู้มีอารมณ์หยาบ จิตใจก็รับอารมณ์หยาบจึงรวมสงบลงยาก ด้วยเหตุนี้ ต้องสำรวมระวังกวดขันตนเองให้ดีที่สุด!
                การสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยเมตตา กรุณา หรือมุทิตา เป็นปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรม ! ในสภาวะเดี๋ยวนี้ เราเป็นพุทธสาวก  ผู้ได้ปฏิญาณตนเข้าถึงพระรัตนตรัย เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบได้อัตตภาพชาตินี้ ทำไมจึงมีความคิดเห็นผิดกันเป็นส่วนมากเช่นนั้น ในขณะที่หน้าที่ของตนยังไม่สำเร็จกิจ จนเป็นเหตุให้เกิดความเนิ่นช้า เป็นการถ่วงตนให้เสียเวลา และยังนำมาซึ่งกิเลสและกองทุกข์ ความเดือดร้อนใจของผู้อื่น  เพราะเรื่องของผู้อื่นมาทับจิต มาทับจิตของตนเองมากเข้า ๆ ก็เป็นโลกไปหมด  ถ้าไม่มีสติปัญญาพลิกโลกให้เป็นธรรม ก็เกิดเป็นทุกข์โทษ เดือดร้อนดิ้นรนเอาเป็นภาระของตนไปหมด สภาวะพระเณรก็จะหมดไป

                ฉะนั้น ผู้ฝึกใหม่ๆ  ต้องการสงบ ต้องพิจารณาตน พิจารณากาย จนมีความเบื่อหน่าย เห็นโทษ รู้ทุกข์ ตามเป็นจริง จนเกิดใจเชื่องสงบ ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ใจมีสติ สมาธิมั่นคงแล้ว จิตจะค่อยๆ น้อมไปสู่วิปัสสนาเองโดยอัตโนมัติ อย่าใจร้อนเพื่อรู้จะเป็นการชิงสุกก่อนห่าม จะไม่ได้ผลที่ดี
Share