อาการของจิต

พิจารณาธรรม วันพฤหัสบดีที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓
เวลา ๐๕.๕๐ น.

 

                จิตปรากฏเป็นธาตุคิด เรียกว่า สังขาร! จิตปรากฏธาตุรู้ เรียกว่า วิญญาณ! จิตปรากฏเป็นธาตุจำ เรียกว่า สัญญา! จิตปรากฏเป็นธาตุเสวยรสอารมณ์ เรียกว่า เวทนา!  ถ้าอารมณ์ดีจิตเสวยรสเป็นสุข ถ้าอารมณ์ไม่ดีจิตเสวยรสเป็นทุกข์ ถ้าอารมณ์เป็นกลางจิตก็เสวยรสเป็นอุเบกขา ถ้าอารมณ์ดีใจก็เสวยรสเป็นโสมนัสเวทนา ถ้าอารมณ์เสียใจจิตก็เสวยรสเป็นโทมนัสเวทนา ถ้าอารมณ์เป็นไม่สุขไม่ทุกข์ จิตก็เสวยรสเป็นไม่ดีใจ ไม่เสียใจ จิตก็เสวยรสเป็นอทุกขมสุขเวทนา!
                จิตมีธาตุรู้เป็นคุณสมบัติ จิตจึงรู้ปรากฏไปทั่วธาตุของร่างกาย เพื่อรับรู้อารมณ์สัมผัสภายนอก จิตรู้รูปทางตา เรียกจักขุวิญญาณ เป็นต้น
                วิญญาณ ความรู้สึก มีอย่างเดียว แต่ได้ชื่อเป็นวิญญาณ ๖ เพราะรู้ตามอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตวิญญาณ จึงปรากฏเป็นวิญญาณธาตุรู้ รับอารมณ์ทางทวาร ๖ จักขุทวาร โสตะทวาร ฆานะทวาร ชิวหาทวาร กายะทวาร มโนทวาร อยู่เสมอ
                และปรากฏเป็นธาตุคิดตามอารมณ์อยู่เสมอ ปรากฏเป็นธาตุจำอารมณ์อยู่เสมอ และเสวยรสของอารมณ์เวทนา ๖ อยู่เสมอ จิตจึงทำงานตลอดทั้งวัน เหนื่อยใจ กายล้า จึงต้องการพักผ่อน จิตหยุดรับอารมณ์ หยุดทำงาน หลับสนิทไม่ฝัน พักพอแก่ความต้องการของธาตุขันธ์ แล้วก็ตื่นเริ่มทำงานได้ต่อไป
                จิตหลงสัญญาขันธ์  ชื่อว่าหลงธรรมารมณ์  ธรรมารมณ์นี้เป็นส่วนสัญญาขันธ์ สัญญา ความจำก็จำอารมณ์นั่นเอง ยึดถืออารมณ์ก็เรียกอุปาทาน ไม่ยึดถืออารมณ์ก็ไม่มีอุปาทาน เป็นสัญญาอารมณ์ เป็นสัญญาอดีต จิตไปถ่ายรูปเก็บไว้ ไปอัดเทปเสียงเอาไว้ ไปอบกลิ่นเก็บไว้ ไปเก็บรสชาติเอาไว้ ไปติดใจสัมผัสเก็บไว้ ไปเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ที่ใจ จึงจมทุกข์กับอดีต ปรารถนามุ่งหวังเป็นสุขกับอนาคต นิโรธะ ความดับทุกข์ก็ดับอารมณ์ปัจจุบันนั่นเอง อารมณ์ในอดีต อารมณ์ในอนาคตก็พลอยดับไปเอง 
Share