รวมธรรมะ ท่านพระอาจารย์นพพร อาทิจฺจวํโส 2

พิจารณาธรรม วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มกราคม ,๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖
เวลา ๒๓.๑๒ น.
               

                บุคคลได้ทำความดี มีผลสำเร็จก็ได้รับพรอยู่แล้ว ไม่ต้องขอพรอะไรอีก เพราะความสำเร็จก็เป็นพรอยู่ในตัว”


                สุขในฌาน เพลิดเพลินมักมีโมหะปน สุขเกิดจากการพิจารณา รู้ชัดเข้าใจแจ่มแจ้งไม่มีโมหะ ไม่มีอุปาทานปน รู้แล้วละอุปาทานทันที ไม่มีความสุขในขณะปฏิบัติธรรมทั้งที่กายยังดีอยู่เป็นความประมาท ไม่ทำการพิจารณาในขณะมีเวทนา จิตจะฟุ้งซ่านเร่าร้อน ทุรนทุราย ขณะจิตเกิดเวทนา


                จิตต้องรู้ซึ้งขณะมีเวทนาฝึกฝนมาดีไม่มีพลาด ฝึกรู้ฝึกละ จนคล่องแคล่วว่องไว เมื่อคราวเกิดเวทนาจิตมีธรรมเป็นที่พึ่ง น้อมธรรม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามารู้เวทนา  พิจารณาได้ทุกขณะจิต ยามปกติไม่ประมาทพิจารณาเป็นอาจิณ อาจละสังขารโลกขณะพิจารณาอยู่ก็ได้


                พิจารณาภาวนาบ่อยๆ จิตจะน้อมธรรมเข้ามา จิตเชื่องสงบโลกธรรมที่ได้พิจารณาเต็มสภาพก็จะสงบระงับไปตามเป็นจริง ความหมุนเวียนความเปลี่ยนแปลงก็หยุดรู้ หยุดละ! ละอุปาทานไม่ยึดถือ มาเป็นเราเป็นของเราอีก
               
                ศีล บังคับกาย วาจา ให้สงบเรียบร้อย รู้กาลควรไม่ควร


                สมาธิ คุมบังคับใจด้วยสติ


                ปัญญา ความรอบรู้ ชี้ช่องทาง แนะนำให้รู้ทันบุพกรรม


                ความดี ด้วยบุญที่ได้รับจากธรรมปิติ เป็นความสุข


                ความดี เป็นสุขสมมุติด้วยการชม


                คนมีหลายอารมณ์ จิตก็มีหลายสี สีแห่งความดีเป็นสีสงบเย็น สีแห่งความเร่าร้อนเป็นสีโกรธ มีสีอ่อนสีแก่มีโทนสี สติระลึกถึงบุพกรรม รู้บุพกรรมก็ยอมรับเหตุผลในใจตนอภัยแก่บุคคลที่ทำให้เร่าร้อน รู้เข้าใจจริง เห็นแจ้งเข้าใจชัดขึ้น แทงตลอดคือ รู้พิจารณาได้ละเอียดถี่ถ้วนครบตามเป็นจริง ถูกต้องและปฏิบัติได้


                “ความคิดแสดงออกมาที่ปาก ลั่นวาจาใจมาอยู่ที่ปาก ต้องเอาปากมาอยู่ที่ใจ รำพึงอยู่ในใจ ความสำรวมใจจะเกิดขึ้นที่เรียกว่าภาวนาในใจ กายมีขันธ์ ๕เป็นส่วนประกอบ จิตมีอารมณ์หรือธรรมารมณ์เป็นเครื่องประกอบ”


                “เราจะพ้นโลกได้เมื่อใด ? พ้นได้เมื่อทำใจไม่มีในเรา ไม่มีตัวตนของเรา ทั้งภายในภายนอก พ้นไปจากความสำนึกว่าเรา เป็นเรา เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน เพราะตัวตนเป็นของโลก เป็นของเรา จิตไม่มีตัวตน จิตที่ไม่มีอุปาทาน ความยึดถือ คือ ไม่ยึดถืออารมณ์ไว้รู้อารมณ์แล้วผ่านอารมณ์ จิตว่างจากอารมณ์ ธรรมารมณ์ทั้งหมด ไม่มีอาลัยจึงไม่มีตัวตน จึงวิมุติหลุดพ้นโลก ด้วยสภาวะธรรมทำใจไม่ติดอารมณ์


                มีอารมณ์ภายนอกมากระทบรู้แล้วละๆ ๆ ๆ ๆ จิตผ่านอารมณ์ทั้งหมด ไม่มาประทับจิตไม่ติดค้างในใจ จิตอยู่เหนืออารมณ์ จิตเหนืออาสวะกิเลสทั้งปวง


                “ความเบื่อหน่ายสังขารเป็นทุกข์แก่เจ็บตาย เบื่อสมบัติในโลก เพราะอนิจจังไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน เบื่อหน่ายความทุกข์ที่ไม่มีตัวตน เพราะเป็นอารมณ์ที่มาเกาะติดใจอยู่เท่านั้นเป็นนิพพิทาญาณ เพื่อนิพพาน”


                “ผู้รู้ความจริงในทุกข์ เพราะอารมณ์ เป็นผู้พบธรรม คนเห็นทุกข์เพราะอารมณ์เป็นผู้เห็นธรรม คนที่ได้รับรู้ทุกข์เพราะอารมณ์ เป็นผู้ได้รับรู้ธรรม ควรเอาประโยชน์จากความพ้นทุกข์มาเป็นวิชชา หมั่นฝึกฝนอบรมผู้ที่ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ให้ได้รู้ได้เห็นได้เข้าใจ จนวิมุติหลุดพ้นตาม  ทุกข์เป็นข้อสอบ ทดสอบ ให้รีบกำหนดรู้ ในเรื่องอารมณ์ของความเป็นทุกข์ เพราะ อาศัยความอยากในอารมณ์ที่เรียกว่าตัณหามาพัวพันผูกใจเป็นพันธะให้สงสาร จึงตกอยู่ในวัฏฏะสงสาร เพราะความกรุณานั่นเอง กำหนดรู้แล้วละผ่านสภาวะ คือ อารมณ์นี้ไปเป็นมรรค หนทางดับทุกข์ นิโรธะความดับทุกข์ก็ดับอารมณ์นั่นเอง

                ปรารถนาต้องมีจุดมุ่งหมาย ต้องมีกำลังใจ และต้องตัดอารมณ์อื่นออกไป เพื่อทำบารมี ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ทำให้เกิดวิมุติบารมี มรรคผลบารมี นิพพานบารมี จบความหมายสบายๆ หมดทุกข์ ปฏิบัติจริงจัง โลกุตตระธรรม ธรรมเหนือโลก ก็เหนืออารมณ์ทั้งปวงนั่นเอง


                “การเสียสละ อารมณ์ภายนอก ความรู้สึกอารมณ์ภายใน ก็เป็นธรรมารมณ์ด้วยธรรมารมณ์ มีตัวตนหรือไม่? ความทุกข์ทั้งปวงก็อาศัยอารมณ์ที่เป็นธรรมารมณ์ที่ติดใจประทับใจนั่นเอง รู้อารมณ์แล้วละอารมณ์ จิตว่างก็ว่างจากอารมณ์ ว่างจากธรรมารมณ์นี่เอง  จงทำสมาธิตั้งใจอยู่กับความว่างก็เป็นสุญญตะ สมาธิมีอนัตตาเป็นอารมณ์ เป็นสูญญตะวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยความว่าง”


                “เสรีชนส่วนมาก คดโกง เอาเปรียบ ตลบตะแลง  เหนียวบำเหน็จ ผิดน้อย ก็เป็นผิดมาก ความดีความชอบไม่ค่อยพูดถึง ใช้ไม่เป็นเวลา ใช้วาจาหว่านล้อม ให้ความหวังลมๆแล้งๆ พูดเสียงดังก็ว่ากระโชกโฮกฮาก พูดค่อยก็ว่าไม่ค่อยเต็มใจตอบ ห่างหายไปหน่อยก็ว่าทอดทิ้งธุระ รับใช้ใกล้ชิดก็ว่าประจบสอพลอ ชีวิตผู้น้อยเหนื่อยยากลำบาก ทั้งกายทั้งใจ เป็นทุกข์กังวล ไม่ปกติสุข”


                “ฤดูกาลเป็นสิ่งไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา หมุนไปตามวัฏฏะจักรวัน เดือน  ปี อนิจจังตั้งแต่อยู่ในท้อง คลอดมาเป็นเด็กอ่อน เจริญพัฒนา จนเป็นหนุ่มสาว แก่ชรา ฟันหักผุ ผมหงอกขาว ผิวหนังเหี่ยวแห้ง  ตกกระ ผอมผิวหนังติดซี่โครงเป็นท่อนๆ เดิน งก งั่น สั่นเทิ้ม ตัวสั่นเทา เป็นอาการของคนเฒ่า พูดจา มีเสียงลมออก พิลึก หมดกำลัง นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นทุกข์ มีโรคลมเบียดเบียน อุจจาระปัสสาวะ ทวารเปิด น่าสงสารสังเวช  เป็นดังเด็กอ่อนช่วยตนเองมิได้ หลงลืม มีสติฟั่นเฟือนพิจารณาจิตดูไปซึ่งความเปลี่ยนแปลง ของรูปและความชรา ความรักใคร่พอใจ ก็คลายความรักยุติลง


                ความอิดหนาระอาใจ เจ็บป่วยไข้ เมื่อยามชรา ทุกรูป ทุกนาม เกิดมาต่างได้พบผ่านมาด้วยกันทั้งนั้น แก่แล้วก็ตายร่างนั้น ขึ้นพองเหม็นเน่า น้ำเลือดน้ำเหลืองไหลนองกระเซ็น  เนื้อเน่ามีหนอนชอนไชทั่วร่างกาย เจาะ เซาะ ซอน คลา คร่ำ เต็มไปทั้งตา หู จมูก ปาก ทวารหนัก ทวารเบา กายนั้น กายนี้ เป็นที่สงสาร มนุษย์ สัตว์ ยากจน คนรวย อนัตตา สูญเปล่าว่างเปล่าทั้งสิ้น ตัวตน คนสัตว์ทั้งหลาย”


          “ชนส่วนมากลำบากเพราะกาย เศร้าโศกเพราะกาย เร่าร้อนเพราะกาย บ่นเพ้อรำพรรณ ร้องไห้คร่ำครวญเพราะกาย เป็นทุกข์เพราะกาย จงพิจารณากายอันไม่สะอาด มีความปฏิกูลไหลเข้าไหลออกอยู่เสมอ ต้องอาบน้ำชำระล้างอยู่เสมอ มีหนังหุ้มห่อกันเครื่องในเรี่ยราด  อุจาด เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ผู้ไม่รู้ มีความปรารถนาต้องการกันนัก ไม่รู้จริงๆภายในร่างกาย จึงขุ่นมัว หมกมุ่น ครุ่นคิด เศร้าหมอง ไม่สามารถหลุดพ้นอุปาทาน ความยึดถือกายนี้ได้”


                “กาย  มีกระดูกเป็นโครงร่าง มีเลือดเนื้อเป็นเครื่องฉาบทา มีเส้นเอ็นรึงรัดเป็นเครื่องผูก ห่อหุ้มด้วยหนังกำพร้า ภายในโยงใยด้วยตับไตไส้ใหญ่ไส้น้อย อาหารเก่า อาหารใหม่ อุจจาระ ปัสสาวะ หมักดองเน่าเหม็นจริงๆ พิจารณารู้ได้ ต้องปิดจมูก กลั้นลมหายใจ ก็จะบรรเทาความปรารถนากายตนและกายผู้อื่นเสียได้  ทุกข์ ความเร่าร้อนก็จะดับไป ภายในจิตใจก็สงบ “


                “ทุกคนเกิดมาแล้ว ต้องตายทั้งสิ้น ตายไปแล้วก็มี กำลังจะตายก็มี  ที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องตายต่อไป เหมือนผลไม้ร่วงหล่นอยู่โคนต้นก็มี กำลังจะหล่นคอยลมพัดก็มี ขั้วยังแข็งแรงอยู่จะสุกและหล่นในวันต่อไปก็มี ทุกชีวิตไม่เร็วก็ช้าต้องตาย การสูญเสียอะไรของบุคคล  จะยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อยอยู่ที่อารมณ์  คือความรู้สึกของบุคคลนั้น ที่ไม่เสียใจเลย เพราะไม่สูญเสียอารมณ์อะไรเลย


                “สิ่งทั้งหลายมีเกิดแล้วมีดับ ตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วดับไป เป็นลักษณะของสิ่งทั้งหลาย จะยึดถือเหนี่ยวรั้งไว้  หาหยุดได้ไม่  เห็นตามรู้ตามเป็นจริง รู้เหตุผลแล้วอุเบกขา ด้วยสติและปัญญาอันบริสุทธิ์


                 รู้แล้วซึ่งธรรมดา ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่ทำร้ายจิตใจ มีแต่เพิ่มพูนสติปัญญา ให้รวดเร็ว ว่องไวยิ่งขึ้น ดวงจิตตัดสินใจได้เร็วมากขึ้น จนเต็มเปี่ยมด้วยอุเบกขา วางเฉยกับทุกอารมณ์ได้ อุเบกขานี้เป็นตัวละโมหะ  ความหลงรู้แล้วก็ละไป” 


                “กามภพที่อยู่ของผู้เสพกาม รูปภพที่อยู่ของพรหมมีรูป อรูปภพที่อยู่ของพรหมไม่มีรูป อยู่ภพไหน? ก็มีความทุกข์ มากบ้าง น้อยบ้างต่างกัน จุติ เคลื่อนตามวาระ ร้อนใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ทุกข์บีบคั้นต่างๆ ที่อยู่อาศัยของทุกภพ ให้ใจอาศัยไม่ได้ เมื่อคราวหมดบุญ


                รูปภพ มีรูปอย่างเดียว ไม่มีหญิง ไม่มีชาย เครื่องเพศไม่ปรากฏ มีปีติเป็นอาหาร ไม่มีทวารขับถ่าย 


                อรูปภพ เป็นที่อยู่ของจิตวิญญาณ ผู้ได้อรูปฌาน ๔ ไม่มีรูป มีอากาศว่างเปล่า เวิ้งว้าง  มีวิญญาณ ความรู้สึกมากมาย มีความสนใจสิ่งทั้งหลายรอบตัวเล็กน้อย ไม่มีสัญญา การจดจำ ในสิ่งทั้งหลายนั้นเลย ไม่ค่อยรู้สึก ในสุขในทุกข์ คงมีสภาพเช่นนับหมื่นกัลป์แสนกัลป์ เป็นสถานที่ผู้รู้แล้วเห็นแล้วไม่สบายใจ ไม่เป็นสถานที่ควรอยู่ เป็นความงมงายเดือดร้อน สถานที่เหล่านี้มีไฟปรารถนารุนแรง หาที่สงบดับมิได้ จึงไม่พ้นทุกข์”


                “ช่างดอกไม้ผู้ฉลาด ทำดอกไม้เป็นอันมาก จากกองดอกไม้ ทำเป็นพวงรวบรวมเก็บไว้ฉันใด มนุษย์ สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วต้องตาย ควรสั่งสมบุญกุศลให้มากฉันนั้น”


                “สติเป็นธรรมเครื่องกั้น  เครื่องห้ามความอยาก  เป็นดังกระแสน้ำ  หลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง  ตัณหา ความอยากนั้น ละด้วยปัญญา


                “สติความระลึกได้  มีความมุ่งหมายในการระวังอารมณ์ อีกนัยหนึ่ง สติ มุ่งหมายการระลึกถึงกิจที่เคยทำระลึกถึงคำพูดไว้แล้วแม้นานได้”


                ความไม่ประมาทอาจคลุมถึงสติทั้ง ๒ ลักษณะ แต่เน้นหนักในการระวังไม่ควรประมาท ๔ สถานคือ
                ๑.  ระวังใจ ไม่ให้กำหนด ในอารมณ์  อันน่ากำหนัด
                ๒.  ระวังใจ ไม่ให้ขัดเคือง ในอารมณ์  อันน่าขัดเคือง
                ๓.  ระวังใจ ไม่ให้หลง ในอารมณ์  อันน่าหลง
                ๔.  ระวังใจ ไม่ให้มัวเมา ในอารมณ์  อันน่ามัวเมา


                “สิ่งที่ไม่น่ายินดี  มักจะปลอมมาในรูปที่น่ายินดี  สิ่งที่ไม่น่ารัก  มักจะมาในรูปแห่งอันเป็นที่รัก ความทุกข์  มักมาในรูปแห่งความสุข เพราะเหตุนี้ชนทั้งหลายจึงประมาทมัวเมากันนัก

Share