พิจารณาตามแบบ

พิจารณาธรรม วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖
เวลา ๑๔.๔๘ น

 

                หญิง ชาย มีความปรารถนาซึ่งกามสุข แล้วให้ทาน รักษาศีล ประพฤติพรหมจรรย์เหมือนดัง ชฎิล ประพฤติบูชาไฟเพื่อปรารถนารูปอันเป็นที่ชอบใจ เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ-ธรรมารมณ์ สิ่งเหล่านี้ถึงความสิ้นความเสื่อมชรา ทรุดโทรม จึงต้องบูชา ปรารถนากันอยู่เป็นนิจ  และมีการแสวงหาอยู่เป็นนิจ อาศัยเหตุแห่งรูปเป็นต้น ที่ตนมีความปรารถนาจึงมีการบูชาสวดมนต์ อ้อนวอน ร้องขอ ประพฤติ ตบะธรรม เพื่อรูปอันพิเศษ เพื่อเสียง กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ-ธรรมารมณ์ อันวิเศษพิเศษ การต้องการปรารถนาเช่นนี้ไม่พ้นทุกข์ ไม่สิ้นทุกข์ เป็นการเพิ่มทุกข์ ยิ่งมีการร้องขอมาก อ้อนวอนมาก ยิ่งต้องบูชากราบไหว้มาก ยิ่งต้องรับทุกข์มาก ลำบากมาก ต้องประกอบงานยัญญะวิธี บวงสรวง ก่อสร้าง นวกรรมตกแต่ง หมดเปลืองสิ้นทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก

                ได้สมประสงค์สำเร็จมาแล้ว ต้องนั่งทน ยืนทน เดินทน นอนทน กับสิ่งเหล่านั้น ทนทุกข์อยู่กับรูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ-ธรรมารมณ์ ชนิดลุ่มหลงมัวเมา ประมาท มืดบอด

                เมื่อทุกอย่างอนิจจัง อนัตตาไปก็ร่ำร้อง บ่นเพ้อ เศร้าโศก อาลัยถึง เพราะความเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย คร่ำคร่า ชำรุด ทรุดโทรม เสียหาย แก่ เจ็บ ตาย ไม่มั่นคง จึงเป็นผู้หมดหวัง สิ้นหวัง ทุกเวลานาที ทุกวินาที ทุกชั่วโมง ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปี ทั้งที่เห็นอยู่ รู้อยู่ ต่อหน้าต่อตา แต่แก้ไขไม่ได้ ช่วยไม่ได้ ในสิ่งทั้งหลาย ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ ไม่มีความหวังพึ่งพิงอาศัย ต้องการในสิ่งเหล่านี้ต่อไป

                จึงรู้คุณค่า เห็นคุณค่า ของธรรมะในพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้แจ้งในเหตุให้เกิดความทุกข์เดือดร้อน วุ่นวาย มีอยู่เต็มไปทั้งโลก ทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกลัทธิ ทุกภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทุกแขนงที่สร้างกันขึ้นมาเพื่อทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายตน มีมลพิษหลากหลาย ทำลายความสุข ทำลายความสงบ ทำลายสันติสุขของตนและผู้อื่นชนิดไม่เห็นฝุ่นไม่เหลือซาก

                เป็นความทุกข์จริงๆ เป็นเหตุให้แตกแยก แตกหมู่คณะ เป็นเหตุให้แบ่งชาติชั้นวรรณะ ผู้ใดเกี่ยวข้องเสวนาแล้ว เกิดความโลภ-โกรธ-หลง-กลัว เกิดราคะ โทสะ โมหะ อวิชชาลุ่มหลง งง ทึ่ม ซึมเซ่อ เกิดรสชาติสัมผัสวิญญาณทัศนะติดใจ ประทับใจ มีความใคร่ปรารถนาเป็นนิจ จิตตกอยู่ในทุกข์ จมอยู่ในทุกข์ ทุกข์ทั่วมหรรณพจบโลก จบบาดาล ทะยานอากาศ พรหมเทพเทวา เทวธิดา ก็ไม่พ้นทุกข์ ทุกแห่งหนทั่วหล้าไม่พ้นความปรารถนาในรูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ-ธรรมารมณ์ ทั้งของมนุษย์ ของทิพย์ ล้วนเป็นคลื่นเสน่หาอารมณ์เป็นกระแสตัณหา สาดซัดจิตใจให้จมลงในกระแสธาร ในห้วงมหาสมุทร แห่งกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา จนไม่อาจจะยกศีรษะให้ขึ้นพ้นจากวัฏฏะสงสารได้

 

                เมื่อพิจารณาเห็นที่สุดของรูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ-ธรรมารมณ์ อันเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน เที่ยงแท้ มั่นคง ไม่ตั้งโชว์อยู่ให้ชื่นชม สมความปรารถนาต้องการในสิ่งเหล่านี้

 

                ปัญญา ความรู้ เพียรรู้ สอดส่อง รู้ลึกซึ้ง เห็นรูปก็มีความเข้าได้ถึงเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในที่สุดรู้แล้วต้องละอุปาทาน ความยึดถือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้นเหตุให้เกิดกิเลส ความต้องการ ปรารถนา ภายนอกไปเห็นไปรู้ ภายนอกกระทบกับสิ่งภายนอก ระวังใจ ดูใจ รักษาใจ อันเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของกิเลส อย่าให้กิเลสมาตั้งป้อม ตั้งฐานบ้านเรือนมาออกลูกออกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง สร้างภพ-ชาติ อยู่บนหัวใจของผู้ไม่รู้ทั้งหลาย

 

                ต้องการหาทางทำลายกำจัดขุดรากถอนโคน ทำลายให้หมดรากเหง้า ขจัด ปัดกวาดชำระล้างความรู้สึกของอารมณ์เหล่านี้ให้หมดไปจากจิตใจ  มีสติ เตือนสติ รู้สติ ไม่ปล่อยสติ ระลึกถึงหน้าที่ปฏิบัติ หน้าที่ทำลายกิเลสตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ หมดสิ้นไปเกิดขึ้นอีกไม่ได้


                อาศัยศีลเป็นรั้วกั้น ใช้สมาธิตั้งใจมั่น เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ใช้ปัญญาดุจอาวุธประหาร ไม่ให้เหลือต่อไปจน จิตบริสุทธิ์สิ้นเชิง มีสัมปชัญญะ รู้หน้าที่ ละอุปาทาน วางปล่อยเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มกันอยู่อย่างอัตโนมัติธรรมดา เป็นไปเองด้วยความสามารถของสติและปัญญา


                มีความทรงตัวของรู้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในวิชชาความรู้ ล่วงการผ่านวัย วันเดือนปี เกิด ดับ จับจุด ตรงรู้!- ละ!-ดับ! เป็นไปตามสภาพปกติของจิต ความเบาสบาย บริสุทธิ์ เป็นสภาพของจิตอุเบกขา เป็นสภาพของจิตวิมุติ หลุดพ้นไปจากความคิดที่จิต จิตพ้นไปจากความกังวลในรูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ-ธรรมารมณ์ จะมาประทับติดใจไม่ได้อีกต่อไป ข้ามพ้นความสงสัยไม่มีความกังวลใจ เพราะหมดสิ่งปรารถนา ไม่มีความต้องการ จึงดับอารมณ์ได้สนิทในใจ ไม่มีส่วนเหลือแม้รูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ-ธรรมารมณ์ กระทบอยู่โดยธรรมดาก็ตามไม่หวั่นไหว ไม่สงสัยไปด้วยกับอารมณ์เหล่านั้น  กิเลส ตัณหาภายใน ดับกิเลสตัณหาภายนอกก็ดับตาม!


                อาศัยตัณหาภายในละตัณหาภายใน! อาศัยตัณหาภายนอกละตัณหาภายนอก! อาศัยตัณหาภายในละตัณหาภายนอก ! อาศัยตัณหาภายนอกละตัณหาภายใน !


                อาศัยพิจารณาดูจิตภายใน ละอารมณ์ที่เป็นธรรมารมณ์ที่ติดอยู่ที่ใจภายใน พิจารณาทำความเข้าใจ รู้อารมณ์ภายนอก รู้แล้วเข้าใจแล้วก็ผ่านไปไม่สนใจไม่อุเบกขา รู้อารมณ์แล้วผ่านอารมณ์ทันที จึงไม่มีตัณหาไม่มีอุปาทาน จึงวิมุตติหลุดพ้นผ่านอารมณ์ไปนั่นเอง

Share