รูปในนาม

พิจารณาธรรม พฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖ 
เวลา ๒๔.๐๕ น.

 

                 รูปในนาม ได้แก่ รูปอาศัยความรู้สึกที่เป็นอยู่ในความไม่ปรากฏแก่ตา แต่รู้ด้วยจิตสัมผัสด้วยความรู้สึกในจิตในนามนั่นเอง รูปจึงตั้งอยู่ได้ รูปจึงทรงอยู่ได้ ถ้าหมดความรู้สึกของวิญญาณเมื่อใด ก็หมดความเป็นรูปไปเมื่อนั้น (ตาย)

                เมื่อพิจารณาความประชุมพร้อมของรูป-นาม ขันธ์ ๕ อินทรีย์ ๖ สติปัฏฐาน ๔ มีพร้อมทั้งรูปทั้งนาม เมื่อเข้าใจรูปธรรม นามธรรม อันป็นบ่อเกิดของสติปัญญา  วิชชา ทำให้ความรอบรู้สมบูรณ์ และรูป-นามก็เป็นบ่อเกิดของทุกข์ด้วย

                ใจถ้าไม่มีสัญญาผูกมัดอารมณ์ ๖ ไว้ ก็พ้นทุกข์ได้เฉียบขาดรวดเร็ว  เช่น รูปารมณ์เป็นต้นมากระทบตา ก็เกิดความรู้สึกของสติปัญญากระทบแล้วก็ดับไป รูปารมณ์จึงเข้าไม่ถึงใจ ติดเกาะใจไม่ได้ เหมือนมีวิหารธรรม เป็นธรรมจักรกั้น หรือทำลายรูปารมณ์เป็นต้นเสีย ก็เป็นอันได้กำจัดจิตตัวสักกายทิฏฐิเสีย ความเห็นว่า                                    

                รูปเป็นตัวตน  ตัวตนเป็นรูป  รูปมีอยู่ในตัวตน  ตัวตนมีอยู่ในรูป

                เวทนาเป็นตัวตน  ตัวตนเป็นเวทนา  เวทนาอยู่ในตัวตน  ตัวตนอยู่ในเวทนา

                สัญญาเป็นตัวตน  ตัวตนเป็นสัญญา  สัญญาอยู่ในตัวตน  ตัวตนอยู่ในสัญญา

                สังขารเป็นตัวตน  ตัวตนเป็นสังขาร  สังขารอยู่ในตัวตน  ตัวตนอยู่ในสังขาร

                วิญญาณเป็นตัวตน  ตัวตนเป็นวิญญาณ วิญญาณอยู่ในตัวตน   ตัวตนอยู่ในวิญญาณ

                ความเห็นว่า  รูปเป็นตัวตน ตัวตนเป็นรูป รูปอยู่ในตัวตน  ตัวตนอยู่ในรูป

                เสียงเป็นตัวตน  ตัวคนเป็นเสียง  เสียงอยู่ในตัวตน  ตัวตนอยู่ในเสียง

                กลิ่นเป็นตัวตน  ตัวตนเป็นกลิ่น  กลิ่นอยู่ในตัวตน  ตัวตนอยู่ในกลิ่น

                รสเป็นตัวตน  ตัวตนเป็นรส  รสอยู่ในตัวตน  ตัวตนอยู่ในรส

                โผฏฐัพพะเป็นตัวตน  ตัวตนเป็นโผฏฐัพพะ  โผฏฐัพพะอยู่ในตัวตน  ตัวตนอยู่ในโผฏฐัพพะ

                ธรรมารมณ์เป็นตัวตน  ตัวตนเป็นธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์อยู่ในตัวตน  ตัวตนอยู่ในธรรมารมณ์

 

                ก็เป็นอันทำกิเลส ตัณหา ในขันธ์ ๕  อารมณ์ ๖  ให้หมดเชื้อ สิ้นรากเหง้า ก็เป็นการกำจัดกรรม คือการกระทำให้เกิด

                ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อวิชชา ภยาคติ ในรูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์จึงเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ไม่กลัวในอารมณ์ต่างๆ จึงหมดภาระในการแบกขันธ์ ๕ อารมณ์ ๖ หมดอุปาทาน ความยึดถือถูกถอน หรือลบออกไปจากจิตใจ รากเหง้าใหญ่ของกิเลสตัณหา คือ ขันธ์ ๕ อารมณ์ ๖ ถูกขุดขึ้นจากใจเสียแล้ว ถลกหนังในรูปออกเสียแล้ว รากฝอย คือ นาม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และรูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์  ลำต้น กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอันถูกยกขึ้นพร้อมทั้งรากใหญ่นั่นเอง

 

                นามขันธ์ ๔  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ

                นามขันธ์ ๕  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

                นามขันธ์ ๓  เวทนา จิต  ธรรม

                นามขันธ์ ๑  อสัญญีพรหม  คนตาย  สัตว์ตาย  มีเพียงรูปขันธ์อย่างเดียว

                นามขันธ์เหล่านี้  อาศัยรูปเกิดอยู่  รูปเป็นดังบ้านเรือน  ภพเป็นที่อยู่อาศัย


                การที่เราจะรื้อภพ รื้อชาติ บ้านเรือน ก็ต้องรื้อค้น ทำลายรูปารมณ์ ใช้สติสัมปชัญญะ ปัญญา แยกรูปอารมณ์เป็นส่วนๆ จนจิตยอมรับ มีความเข้าใจ เบื่อหน่ายในอารมณ์รูป


                เมื่อรื้อถอนทำลายรูป ด้วยรู้ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของรูป ด้วยปัญญาแล้วก็ไม่ประกอบกรรมให้เกิดรูปอื่นๆ ขึ้นมาอีก นามคือความรู้สึกที่เคยตายฝากเป็นไว้กับรูป ก็ถึงความวิบัติเหมือนปลาติดหลังแห พลอยตายไปด้วย รูปที่เคยเป็นอุปสรรคต่อพรหมจรรย์ ได้วิปัสสนาปัญญา ยกขึ้นทำลายที่อาศัยของนาม ให้สูญสลาย ตายจาก ไม่มีรูปให้อาศัย นางตัณหา นางราคะ นางอรดีก็ถึงซึ่งความตายเสีย แล้วก็เป็นอันพ้นทุกข์โดยชอบได้ ได้พบพุทธะ ธัมมะ สังฆะ ผู้อยู่ห่างไกลกิเลส ตัณหา อวิชชา อาสวะ แล้วก็ซาบซึ้งกับความเบื่อหน่ายคลายรัก คลายความต้องการ หมดความปรารถนา ก็หมดอุปาทาน ความยึดถือในรูปเหล่านั้น แล้วเข้าสู่พระนิพพาน

                พระไตรรัตน์ทั้ง ๓ นั้นต่างก็มาบังสุกุล พิจารณาดูรูปกิเลส  รูปตัณหารูปอวิชชา รูปอาสวะ ที่ต้องทิ้งให้รูปตัณหา รูปราคะ รูปอรดี เสื่อมสลายผุพังไปตามกาลเวลา เห็นตาม รู้ตาม ก็อาจเพิกถอนเสียได้ ละอุปาทานแล้ว เข้าถึงความสุข ความสงบ สันติสุข นิพพานัง ปรมังสุขัง ไม่กำเริบจิต ไม่มีอารมณ์กำเริบ เพราะรู้ความสิ้นไปแห่งรูปตัณหา เสียงตัณหา กลิ่นตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพะตัณหา ธรรมตัณหา จิตเป็นเอกัคคตาจิต   ธรรมเป็นเอกัคคตาธรรม  อารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์  ธรรมารมณ์มีอารมณ์เป็นธรรม เป็นวิหารธรรม เครื่องอยู่จิตวิเวก จิตมีความสงบเป็นเครื่องอยู่ ดับเชื้อแห่งทุกข์ คือ ดับอารมณ์สิ้นเชิง 

Share