ศีล สมาธิ ปัญญา
พิจารณาธรรม วันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
เวลา ๑๘.๐๐ น.
“ศีล อันใด สมาธิก็อันนั้น ! สมาธิ อันใด ปัญญาก็อันนั้น ! ปัญญารู้รอบคอบเมื่อใดใจก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิเมื่อนั้น ! เมื่อจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็นเหตุให้ละเว้น ให้อภัยเกิดศีลธรรมขึ้นมา มีความเกี่ยวเนื่องถึงกันพร้อมสมบูรณ์ บริบูรณ์ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา”
“พรหมวิหาร ๔ ปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องที่สุด ควรปฏิบัติให้มีความยุติธรรม ดูความเหมาะสม เห็นว่าถ้าไม่มีความยุติธรรม เที่ยงตรงแล้ว เมตตาจะเกิดขึ้นไม่ได้ กรุณาสงสารก็เกิดขึ้นไม่ได้ มุทิตาพลอยยินดีกับผู้อื่นก็มีไม่ได้ ถ้าไม่รู้สภาพภาวะของตนตามความเหมาะสมแล้ว จะอุเบกขาไม่ได้”
“สัจจะ สำคัญต่อชีวิตประจำวันและสำคัญต่อการปฏิบัติธรรมอย่างไร? มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันดังนี้ ทำให้เป็นผู้ตรงต่อเวลา ตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ จริงใจจริงจังต่อการปฏิบัติชอบ ประพฤติชอบ ตั้งมั่นจริงต่อการให้ทาน รักษาศีล อบรมภาวนา เป็นเหตุสำคัญให้ได้รับผลสำเร็จ ตามความปรารถนาต้องการ เพราะมีสัจจะมีความจริงใจต่อผลที่ต้องทำ ต้องประพฤติหรือปฏิบัติตามต้องการ ปรารถนาให้สำเร็จในสิ่งนั้นๆ”
“สัจจะ ความจริงใจที่ดีมีผลสำเร็จในทางที่ดี มีความตั้งใจเป็นสัจจะดีแล้ว เป็นเหตุให้ประพฤติชอบ สุปฏิบัติ ปฏิบัติดีตามแนวทางพระธรรมคำสั่งสอน เป็นผู้ปฏิบัติตรงตามพระวินัย ไม่บกพร่อง เป็นผู้ปฏิบัติชอบควรแก่การบรรลุมรรคผล เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่งในโลกุตรธรรม สมควรแก่การเป็นสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ผู้มีสัจจะความจริงเหล่านี้จึงเป็นผู้ควรต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เพื่ออุทิศให้ผู้ล่วงลับ เป็นผู้ควรกราบไหว้ อัญชลีกรรม เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นผู้ทำบำเพ็ญประโยชน์สุขให้เกิดแก่โลก”
“สัจจะธรรม คือ ธรรมที่เป็นจริงเป็นเองโดยสภาวะธรรม เป็นธรรมแท้ เป็นธรรมเที่ยงตรง เป็นธรรมไม่หวั่นไหว เป็นธรรมประจำโลก เป็นธรรมจริงให้ประโยชน์สุขต่อชีวิตประจำวัน และสำคัญต่อการปฏิบัติตนให้ถึงธรรม คือการพ้นทุกข์”
“การปฏิบัติธรรม ก็คือการปฏิบัติตรงต่อสัจจะ คือความจริงทั้งหลายนั่นเอง การปฏิบัติจริงตามสัจจะที่ตั้งไว้เป็นประจำวันต่อชีวิต ก็ได้รับผล คือความสำเร็จ สมความปรารถนาประจำวัน ประจำคืน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน ประจำปี หรือทุกวินาที หรือทุกนาที ทุกชั่วโมงปฏิบัติธรรม คือ สัจจะที่ตนได้ตั้งใจไว้”
“การปฏิบัติชั่ว ทำตนเป็นคนเลว ไม่เป็นที่ปรารถนาของสังคมที่ดีงาม ไม่มีผู้ปรารถนาสงเคราะห์ต้อนรับ ถ้าตั้งสัจจะในทางที่ผิดให้สำเร็จความปรารถนา ผิดศีลผิดธรรม ไม่ชอบไม่ดี เป็นทุปฏิบัติ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผิดคลองธรรมที่ชอบ เป็นบาป อกุศลทั้งกายวาจาจิต ทำลายตน ทำลายพระพุทธศาสนา เป็นทางไปอบายในถึงนรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ไม่มีมรรค ผล คุณความดี ไม่มีส่วนอันเป็นบุญอุทิศผลให้ผู้ล่วงลับได้ ไม่มีใครอ่อนน้อมด้วยสุจริตใจ เป็นเสนียดจัญไร เป็นภัยแก่โลก”
“สัจจะเป็นตัวศีล เสียศีลก็เสียสัจจะ มุสาวาทไม่มีความจริง หลอกลวงการปฏิบัติชอบ ขาดไป ตกไป เสียไป โลกประณามว่าเหลวไหล เหลาะแหละ มีจิตฟุ้งซ่านไม่ตั้งมั่น เป็นพุทธบริษัทจอมปลอม ไม่เป็นที่น่าปรารถนา นำมาปฏิบัติ นำมาซึ่งความผิดพลาด ผิดท่าผิดทาง เป็นทุกข์เมื่อมีความผิดพลาด ผิดท่าก็เข้าท่าเข้าฝั่งไม่ได้ ท่า หรือฝั่งของผู้อยู่ในวัฏฏะสงสาร คือ ท่าเรือพาหนะข้ามฟากเข้าหาฝั่ง เรือ คือสัจจะ เป็นเรือจริง เรือดี เรือไม่รั่ว”
“เรือทางธรรม อัตภาพกายนี้ สมบูรณ์ด้วยเครื่องมือ ทั้งร่างกาย จิตใจ มีธรรมคือสัจจะแล่นออกจากฝั่งโลกนี้ไปถึงพระนิพพานฟากโน้นด้วยสัจจะ ด้วยความจริงใจแน่วแน่ เมื่อถึงพระนิพพานคือความจริงแล้ว เป็นอริยะสัจจะ ความจริงอย่างสุดประเสริฐ”
“อนริยสัจจะ จริงไม่ประเสริฐเป็นของคนชั่วบาป มุ่งปรารถนาทำชั่ว เช่น ตั้งสัจจะจะฆ่าให้ได้ จะลักเอาของเขาให้ได้ ประพฤติผิดลูกเมีย ข่มขืนเขาให้ได้ มุสาวาทหลอกลวงเขาให้ได้ ต้องดื่มเหล้าให้เมาให้ได้ สัจจะอย่างนี้เป็นบาป มีโทษอยู่ในตัวเอง ยิ่งตั้งสัจจะด้วยใจแน่วแน่ มีหวังไปคุยกับยมพระบาลได้ ขาดสัจจะ ทำให้การปฏิบัติขาดไปจากคุณความดีจริงๆ”
“ทำให้ศีลขาดไปด้วย ตกจากคุณความดีด้วย เกิดบาปอกุศลด้วย เป็นผู้ไม่ฉลาดด้วย เสียสัจจะด้วย สัจจะเป็นบารมีธรรม เรียกสัจจะบารมี ผู้มีความปรารถนาพุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ สาวกอรหันต์ภูมิ ล้วนแต่ตั้งมั่นอยู่ในสัจจะ ปรารถนาด้วยความจริงใจแน่วแน่เป็นสัจจะ ต้องให้สำเร็จได้จริงๆ ปฏิบัติจริงๆ แม้ต้องสละทรัพย์ อวัยวะ ชีวิตก็ตาม ไม่ยอมให้เสียสัจจะ ไม่ให้สัจจะขาดไป เพราะมีความเห็นผิดเป็นอย่างอื่น สัจจะมีความสำคัญประจำวันแก่ชีวิตและสำคัญต่อการปฏิบัติธรรมอย่างนี้”
“จึงเรียกสัจจะว่าเป็นธรรม สัจจะจริง ธรรมจริง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของจริงพูดจริง ทำจริง รูปจริง เสียงจริง กลิ่นจริง รสจริง โผฏฐัพพะสัมผัสจริง ธรรมารมณ์สัจจะจริง ถ้าสัจจะไม่มีใจจริงทุกอย่างก็ไม่จริง ย่อมเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงเสียง เปลี่ยนแปลงกลิ่น เปลี่ยนแปลงรส เปลี่ยนแปลงโผฏฐัพพะสัมผัส เปลี่ยนแปลงธรรมารมณ์ ใจรวนเรฟุ้งซ่านไม่ตั้งมั่น หาความดีความจริง หาความสงบได้ยาก จึงต้องมีความจริง ๒ อย่างคือ สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติรูปธรรม ๑ จริงโดยปรมัตถ์สัจจะ นามธรรม ๑”
“ปฏิบัติสมมติสัจจะรูปธรรมอย่างเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวสละเป็นสละตาย เป็นเหตุสั่งสมจริงขึ้นทุกขั้นตอนที่ปฏิบัติ ปรมัตถ์สัจจะนามธรรม ผู้รู้ก็ถูกอบรมบ่มรู้ให้แกล้วกล้ารวดเร็วเข้มข้น แข็งแกร่งไปด้วยทุกระยะ ทำความเพียรประโยชน์ พยายามที่เด็ดกล้าสละชีวิตเข้าแลก ไม่หวั่นไหว ใจกระหยิ่มในรสพระธรรมที่มีความกระหายใคร่รู้มานานแล้ว จะจบลงสิ้นลงด้วยสัจจะ ความเป็นเองเป็นจริงทั้งหลายปรากฏ นี่ก็จริง! นั่นก็จริง! ยอมรับสมอ้างว่าจริง มองไปทางไหนเมื่อไรก็ต้องเห็นจริงๆ พบเจอจริงๆ นรกก็จริง เปรตก็จริง อสุรกายก็จริง สัตว์ดิรัจฉานก็จริง มนุษย์ก็จริง เทวาเทวธิตาก็จริง พรหมก็จริง วิมุติหลุดพ้นก็จริง มรรค ผล นิพพานก็จริง”
ถ้าใจมีมายาสาไถย ไม่ยอมรับความจริง ทุกอย่างที่จริงมีอยู่เป็นอยู่จริงถูกปฏิเสธเสียแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ ความหมายสมมติที่เป็นจริง ของดี ของจริง ของถูก ของแพง ก็ถูกกล่าวร้ายป้ายสีให้เสื่อมคุณค่า เปลี่ยนแปลงความดี ความจริง ความถูกต้องให้เป็นไม่ดี ไม่จริง ไม่ถูกต้อง มายาจิตนี้ ชนิดนี้เลวจริงๆ ชั่วจริงๆ ร้ายแรงจริงๆ ไม่ดีจริงๆ สัจจะสำคัญยิ่งกว่าชีวิตประจำวันจริงๆ
วันหนึ่งๆ ไม่พบความจริง ไม่มีความจริงแล้ว การเกิด การแก่ การเจ็บ การตายในแต่ละวัน ทุกเดือน ทุกปี ทุกวินาที ทุกนาที ทุกชั่วโมงจริงๆ ไม่รู้จัก ไม่รู้เรื่อง นับว่าแปลกแต่จริง ความสำคัญของธรรม การปฏิบัติธรรมก็คงไม่มีด้วย สัจจะความจริงในทุกอย่างมีความจริงใจมั่นคงเป็นสำคัญยิ่งนัก ทั้งสมมุติสัจจะสมมติทางรูปวัตถุรูปธรรมของโลก หรือปรมัตถ์สัจจะ เข้าใจรู้รู้ทางใจนามธรรม