ทานใน-ทานนอก

 
พิจารณาธรรม วันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
เวลา ๐๘.๑๘ น. กลับจากบิณฑบาตร

            ให้ทาน ทานใน  ให้เลือด เนื้อ ดวงตา หู จมูก ลิ้น อวัยวะ ตับไต ตลอดถึงชีวิตและอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต เห็นประโยชน์ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา ไม่มีความเสียดาย ไม่มีความตระหนี่ ไม่มีความหวงแหน คลายความยึดถือ เพื่อละอุปาทาน ไม่ห่วงใย ไม่เป็นกังวล ไม่เก็บอารมณ์ รู้เรื่องความทุกข์ รู้ความต้องการ รู้ความจำเป็น รู้เรื่องสมหวัง ผิดหวัง รู้ความรัก ความชัง รู้ผลการชม การติ รู้สงบ ไม่สงบ เป็นอิสระ ไม่อิสระ คลายอารมณ์ที่มีอยู่ จิตน้อมไปเพื่อสละบริจาค มุ่งเนกขัมมะ ความสงบ รู้ว่าทานการให้เป็นมรรคหนทางดับทุกข์  ทางกายด้วยวัตถุ  ทางใจด้วยการละอารมณ์  ดับอารมณ์ให้อารมณ์หมดไป ไม่เก็บอารมณ์ให้เป็นอาสวะ  หมักดองขังไว้  จะไม่เป็นโรคประสาทด้วยการให้ทานใน  ทั้งละกามตัณหาได้  ด้วยสละจาคะอารมณ์  ทานในเป็นมรรค  เป็นผล  มีผลสู่นิพพานดังนี้  ขนาดให้ชีวิตเลือดเนื้อได้  มีรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรืออารมณ์มาก็สละได้รวดเร็ว

            ให้ทาน ทานนอก  ให้วัตถุของใช้ ทรัพย์สมบัติ บุตรธิดา ภรรยา สามี เป็นทรัพย์ภายนอก เป็นที่รักและหวงแหนมาก พระโพธิสัตว์ผู้มีศรัทธาบารมีในทาน เช่น พระเวสสันดร จึงบริจาคให้ทานได้ครบถ้วน ถ้าชนธรรมดาแต่ละสิ่งแสวงหากว่าได้มาเป็นความลำบากเหนื่อยยากทั้งสิ้น ด้วยแรงใจ แรงกาย สู้ทนอุปสรรค ตากแดด ตากลม สู้ฝน สู้ทนหนาว อยากได้ในทรัพย์สมบัติ บุตรธิดา ภรรยาสามี ข่มใจอดทนพากเพียรทุกวันเวลา เช้าสาย บ่ายเย็น เวลาค่ำ กลางคืน อดหลับอดนอนสู้ทนฝึกฝน ขยันขันแข็ง สร้างฐานะ ประกอบกิจหน้าที่  ให้ก้าวหน้ารุ่งเรือง เป็นที่อุ่นใจของครอบครัว ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาไว้ใจ จนได้สมความปรารถนา
 
                ไม่ต้องอาทรร้อนใจ วิวาทบาดหมาง ไม่ต้องทำร้าย ไม่หยาบคายร้ายกาจ เอาชนะกันด้วยทิฏฐิมานะ ผู้มีปัญญาพิจารณา  วัตถุทานบริจาค  เห็นทุกข์รู้โทษ  เป็นภัยอันตราย  เป็นภาระทุกข์  แบกไว้ที่ใจ  เบื่อหน่ายในภาระ  ในภาวะทุกวัน  จึงจำใจจำเป็นสละจาคะออกเสียบ้าง  แล้วกำหนดรู้ดูที่ใจ  ที่เบากายเบาจิต  หายกังวล  ไม่มีอาลัยอาวรณ์  เป็นการปลดเปลื้องทุกข์อย่างแท้จริง  ทานจึงเป็นมรรค  หนทางเข้าถึงความดับทุกข์
 
                ผ่านการรู้การเห็น  การเป็นเจ้าของในสิ่งต่างๆ มาแล้ว  หมดความสงสัยในทุกข์  รู้ซึ้งถึงความเปลี่ยนแปลง  เข้าใจประจักษ์แจ้งกับความสูญสลาย  จึงไม่วิตกวิจารณ์กับสิ่งที่ให้ไปแล้ว  สังขารก็หยุดการปรุงแต่งวิญญาณ
 
                ความรู้สึกกับสิ่งของที่ให้ก็หมดไป  สิ่งทั้งหลายไม่ยั่งยืน โลกทั้งโลกจึงพร่องอยู่เป็นนิจ  ไม่รู้จักเต็ม  เป็นเพียงปัจจัยอาศัยชั่วคราวได้เท่านั้น  จึงเป็นทาสของอารมณ์ตัณหา  ดับอารมณ์ก็ดับตัณหาก็ดับทุกข์  ละไปสิ้นไปหมดไป  ไม่อยากทวงคืน ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้สมควรแล้ว
 
                สรรพสิ่งเป็นสภาวะเปื่อยเน่า ผุพัง ทั้งหญิงทั้งชาย ไม่ละเว้น เด็กเล็ก หนุ่มสาว แก่เฒ่า ชรา สิ้นเยื่อใยหายหลง ทรงสภาพ หลุดพ้น หายสงสัย ไม่ยึดถือ โลกนี้โลกหน้า มีภาวะสภาพเดียวกัน จึงได้หมดความปรารถนาใดๆ จิตน้อมไปเพื่อให้ทาน สละคืนแก่โลกนี้  เข้าถึงความสงบสันติ ไม่มีความต้องการก็นิพพาน ดับอารมณ์ทุกข์ทั้งปวง จึงชื่อ “นิพพานัง ปรมังสุญญัง”  เพราะไม่มีอารมณ์  ถ้ามีอารมณ์เรียกว่า “นิพพานัง  ปรมังสุขัง”
 
                “จิตรู้แล้วไม่ทำใจให้เป็นอุเบกขา เพราะการทำใจแสดงว่ายังไม่ว่าง  รู้แล้วว่างผ่านอารมณ์ไปเลย จึงไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดีใจไม่เสียใจไม่ได้อุเบกขา  รู้แล้วผ่าน ไม่มีอาลัย อนาลโย ว่างหมดไป ผู้รู้เด่นชัดจึงเป็นบรมสุข”  (เขียนตามความเข้าใจ  พระนพพร  อาทิจฺจวํโส)  พ้นจากความยึดถือเกาะเกี่ยวอารมณ์ในสิ่งให้เกิดสุข เกิดทุกข์นั่นเอง  นิโรธะ  ความดับทุกข์ก็ดับอารมณ์นั่นเอง
 
(  ผ่าน   ว่าง   สูญ  )
 
(  ความเร็วของรถ   เครื่องบิน   จรวด  )  “ข้อทดสอบจิต”

พิจารณาธรรม เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ 
Share