จิตดับตัณหาไม่ดับ ตัณหาดับจิตไม่ดับ

            จิตดับจิตที่คิดนึก จิตจึงไม่มีตัณหา  ตัณหาความอยาก เพราะจิตหวั่นไหวไปตาม ดิ้นรนไปตาม สะดุ้งอยู่เป็นนิจ เพราะมีตา หูจมูก ลิ้น กายกับใจที่คิดนึกได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รู้รส สัมผัส โผฏฐัพพะกาย จิตรู้อารมณ์กระทบตัณหาความอยากจึงไม่ดับ เพราะมีสัญญาและเวทนา ตัณหาจึงเจริญ เมื่อจิตพรากจิต พลิกจิต จากอารมณ์ทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้ว  จิตเหลืออยู่มีอยู่แต่มโนกรรมภายใน จิตอาศัยธรรม ธรรมอาศัยจิต เป็นเอกจิต เอกธรรม รู้รสชาติของพระธรรมวินัยแล้ว รู้ละตัณหา รู้รสชาติความเกี่ยวเนื่องแห่งตัณหาแล้ว จิตไม่หลงอารมณ์ จิตดับสัญญา จิตดับเวทนา จิตดับจิต จิตรู้จิต จิตพรากจิต จิตถอนจิต จิตไม่อาลัยในจิต จิตจึงพ้นจิต เพราะมารู้ธรรมแก้ตัณหาที่เป็นไปในกลทั้งหลายแล้ว ปล่อยจิต ปล่อยตัณหาเช่นนี้ มีอุเบกขาวางจิตเป็นกลาง ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ปรุงแต่ง ไม่ตามจิต ไม่เอาตัณหา รู้จักอนัตตา ตัณหาก็ดับลง จิตยังคงรู้ต่อไป รู้แล้วละ รู้แล้วละ รู้แล้วละ รู้แล้วละ รู้แล้วละ รู้แล้วละ!  เป็นอมตธรรม!  ธรรมที่ไม่ตาย!   จิตที่มีธรรมเป็นจิตที่ไม่ตาย! มันตายแต่ตัณหา มันดับแต่ตัณหา เพราะเรารู้จักดับอารมณ์ ละอารมณ์ ปล่อยอารมณ์ วางอารมณ์ด้วยไม่คิดถึงอารมณ์ ไม่นึกถึงอารมณ์ เพราะอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ให้มีความหลง ทำให้เกิดทุกข์ เป็นที่แห่งความโศก เป็นรังของโรค เวรภัย เป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ทำให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ  เป็นที่ตั้งของความรัก ความชัง  เป็นที่ตั้งของการติการชม ผู้รู้ทั้งหลายจึงละไปอย่างไม่อาลัย ไม่มีเยื่อใย ไม่มีเชื้อสายให้เกิดทุกข์โศกโรคภัยเวรทั้งหลายได้อีก เพราะมารู้ความเป็นไปของสังขารทั้งหลาย ทั้งที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง ทั้งพิจารณากายสังขาร จิตตสังขาร เห็นทุกข์ประจำในสังขาร ไม่พอที่จะทนอยู่ได้ เห็นความแปรปรวนแห่งสังขารโดยความเป็นอนิจจัง ไม่พอที่จะทนอยู่ได้ เห็นความเป็นอนัตตาธรรมของสังขาร ไม่พอที่จิตจะพึงตั้งอาศัยอยู่ให้เป็นนิจนิรันดรได้ จึงเห็นสังขารนี้เป็นดุจสิ่ง-กลัว-เกลียด-หน่าย –ใคร่จะพ้นไปเสีย เห็นโทษของสังขารว่าเป็นทุกข์ โทษฝ่ายเดียว ต้องวิบัติพินาศไปด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม หาบัญญัติมิได้ เกิดแล้วแก่ เจ็บ ตายไป เป็นอยู่อย่างนี้ เราท่านทั้งหลาย หญิงชายทั่วหน้า จงพิจารณาถึงวันและเวลาที่เกิดมาแล้วก็ดับไป อย่าหลงชมเพลิดเพลินในโลกตระการ วัฏฏะสงสารเป็นของยาวไกล ต้องเพียรฝึกหัด อบรม บ่มนิสัย พระธรรมวินัยอย่าได้เลิกลา ทาน ศีล ภาวนา  จงอุตส่าห์ตั้งใจ ใครประพฤติปฏิบัติดีแล้ว เหมือนมีดวงแก้วสารพัดนึกได้ ว่าโลภ โกรธ หลง สังคมภายใน โชคดี โชคร้าย เป็นภัยทุกวัน เบื่อโลกนี้โลกหน้า เวียนตายไปมา เป็นทุกข์ร่ำไป ตายแล้วไม่เกิดพบสุขอันเลิศ คือนิพพานภายในใจ
Share