ตัณหาอาศัยจิต จิตก็อาศัยตัณหา

                ตัณหาความอยากได้ภายในอาศัยจิต อารมณ์ภายนอกอันวิจิตรพิสดาร สวยสดงดงามอยู่ในโลก มิใช่กาม มิใช่ตัณหา ความอยากเกิดจากความกำหนัดในอารมณ์อันวิจิตรพิสดารนั้น  เกิดขึ้นมีขึ้นเพราะอาศัยความดำริ คิดนึกตรึกตรองของจิตตสังขาร ปรุงแต่ง อวิชชา ความไม่รู้จึงหลง เพลิดเพลินยินดีอยู่กับความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ เป็นของไม่ใช่ของตน อาศัยตัณหา ความอยากพึ่งพึงพำนักเพียงความอยู่รอดของชีวิตไปวันหนึ่งๆ  ถ้าปรารถนา ตัณหา ความอยากจากความวิจิตรพิสดารของโลกเพียงแค่วัตถุธาตุ จิตตสังขารก็ต้องปรุงแต่ง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข ก็เป็นที่ลำบาก จิตต้องคิดนึกร่ำไป ใจไม่สบาย จิตก็ไม่สบาย  ทุกข์ก็ทับถม แล้วก็จมอยู่กับกิเลสตัณหา ไม่ช้าก็ต้องตายกับมัน พ้นตัณหาไม่ได้ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ ตัณหาจะเจริญงอกงามไพบูลย์วิจิตรตระการตา ก็ต้องมาอาศัยจิต มาพี่งจิต ให้จิตทำหน้าที่คิดนึก ตรึกตรองแล้วจิตก็หลงในสิ่งที่จิตตกแต่ง ที่จิตประดับประดา ที่วิจิตรพิสดาร เท่ากับว่าจิตหลงจิต จิตหลงเงาของจิตเอง แล้วก็คร่ำครวญเป็นทุกข์ในสิ่งที่จิตทำให้แก่จิตไม่ได้  จิตเป็นทาสจิตเพราะไม่รู้จักจิต จิตจึงเป็นปกติจิตไม่ได้ จิตละสภาพจิตไม่ได้ ถ้าไม่มีแก่ใจมารับรู้ยอมรับสภาพตามความเป็นจริง จิตว่าจิต จิตรู้จิต จิตยอมรับว่าจิตทุกจิตเป็นทุกข์จริง จิตจึงละจิต จิตถอนจิต  จิตพรากจิต จิตไม่มีอาลัยในจิต จิตดับจิต จิตจึงพ้นจิต  จิตจึงพบนิพพานจิต อยู่ที่จิตนั่นเอง จิตจึงสบายจิต เอวํ

Share