ธรรมทั้งปวงไม่ควรเข้าไปถือมั่น “สพฺเพ ธมฺมา นาลงฺอภินิเวสาย”

พิจารณาธรรม วันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔
เวลา ๑๐.๐๙ น.
                การไม่ถือมั่นต้องใช้สติปัญญา  พิจารณาในสิ่งที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน   สิ่งใดที่พอจะเป็นประโยชน์ถือเอา โดยชอบไม่ผิดศีลธรรม เช่น ถือเอาผ้าบังสุกุล ผ้าห่อศพอสุภะ เพราะถือเอาใช้แล้ว มรณะสัญญา  ความจำหมายในความตายมีอยู่ กิเลสอกุศลกรรมไม่เกิดเจริญขึ้น ที่เกิดแล้วก็จะบรรเทาลงถึงสิ้นไปได้  ทั้งผ้านั้นก็พอใช้ประโยชน์ได้จะไม่เสียไปเปล่า ทั้งไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ศีลธรรมมรรคผลก็เกิดขึ้นเจริญขึ้นได้ง่าย
                ไม่ใช่ลูกเจ็บ เมียตาย ผัวตาย ฉันก็ไม่ถือ เพราะมันเป็นเอง ก็หายเอง หรือตายเอง  ฉันไม่ยึดถือมั่น ลงอย่างนี้ก็เกินไป เป็นนักธรรมะไม่รับผิดชอบ! ไม่รับผิดชอบก็เอาดีไม่ได้  จะต้องคิดว่า  สิ่งใดก็ตามที่ยังอยู่ในวิสัย ที่พอถือเอาประโยชน์ได้  ยังไม่ควรวางเฉย ปล่อยวาง เมื่อถึงคราวอุเบกขาวางเฉยปล่อยวาง ก็ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
                สิ่งใดๆ ก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ต้องแก้จนสุดความสามารถ เมื่อสุดความสามารถแล้วยังแก้ไม่ตก เราก็ต้องวางเฉยปล่อยวาง และด้วยการยอมรับว่า มันถึงคราวแล้ว เรายอมรับได้อย่างนี้แล้วเราก็สบายใจ และพ้นการครหา ไม่ใช่พอเกิดเหตุปั๊บเอาธรรมะขึ้นอ้าง ปล่อยวางเลย คงไม่ถูกไม่ควร เรียกว่า มาปล่อยในคราวที่ควรยึดควรถือ คราวที่ควรอุเบกขาวางเฉยปล่อยวางก็ดันไปยึดไปถือ แก้ไขจนปัญญาสุดฝีมือแล้ว แก้ปัญหาไม่ตก ก็มานั่งร้องไห้รำพัน บ่นเพ้อว่าโถๆ ไม่น่าเลย พุทโธ!! ช่วยลูกด้วย! นี่แสดงว่าถึงคราวอุเบกขาวางเฉยแล้วปล่อยวางแล้ว ยังไม่วางเฉยยังไม่ปล่อย ยังไปยึดมั่นถือมั่น
                เมื่อถึงคราวเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ก็ยังมีใจห่วงเรื่องของครอบครัว ห่วงลูกเมียหรือห่วงสามี ห่วงทรัพย์สินสมบัติ เป็นบ้าฟุ้งซ่านแล้ว เพราะถึงคราวที่ควรอุเบกขาวางเฉยได้แล้วปล่อยวางได้แล้ว ยังไปยึดถือก็เป็นการไม่สมควร ควรวางเฉยด้วยสติปัญญา พิจารณารู้เห็นตามเป็นจริง ถึงโทษและกองทุกข์ทั้งหลาย  ในการมีครอบครัว บุตรธิดา ภรรยา สามี และทรัพย์สมบัติ ควรเบื่อหน่ายในการคิดการนึก ถึงอดีตกิเลสตัณหาให้เกิดขึ้นเจริญขึ้น ทำจิตใจให้มีความสลดสังเวชในตน ที่จะทำให้เกิดโทษทุกข์ภัยอันตรายต่างๆ เสียให้ได้จึงจะเป็นการดี  
Share