สุญญตสมาธิ

 
               คือ การตั้งใจมั่นกับความว่าง มีอนัตตาความว่างเป็นอารมณ์ ตามพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สรุปไว้ว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา บรรดารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ล้วนว่างเปล่าจากตัวตน สุดท้ายสูญสลายหายไปทั้งหมด จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น และให้ตั้งใจมั่นอยู่กับความว่าง เพราะสิ่งทั้งหลายล้วนว่างเปล่า หากเราไปยึดถือย่อมจะต้องเกิดทุกข์ขึ้นแน่นอน  เพราะไม่มีอุปาทานยึดถือสิ่งที่อนิจจังไม่เที่ยง อนัตตาว่างเปล่าเหล่านั้นว่าเป็นเราเป็นของเรา ดังนั้นทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน เราจะต้องตั้งใจมั่นอยู่กับความว่าง เพราะเรารู้ชัดแล้วว่า สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน  ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ล้วนว่างเปล่า อารมณ์ที่เข้าสู่สุญญตสมาธิ รับรู้แต่ไม่รับเก็บอารมณ์  ก็ว่างจากอารมณ์แล้ว ไม่มีวิตกวิจารณ์ สังขารไม่ปรุงแต่ง ไม่มีอารมณ์คือไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆ ที่จะปรุงแต่ง ไม่รับอารมณ์ปัจจุบัน ไม่นึกถึงอดีต ไม่นึกถึงอนาคต  “นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ” มีแต่ตัวรู้ รับรู้ไม่รับเก็บ เกิดขึ้นแล้วดับไป สุญญตสมาธิ สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยความว่าง ทุกอย่างว่างเปล่า ไม่มีอุปาทานก็คือ ไม่ได้เก็บอารมณ์ไว้นั่นเอง คือรู้แล้วละอารมณ์ไปเลย ไม่ได้นึกถึงอารมณ์ ไม่ได้ปรุงแต่ง ไม่ว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ให้เก็บอารมณ์ใดๆ ไว้
           1. สมาธิความตั้งใจมั่น ต้องเพ่งความสูญหรือเพ่งอนัตตาเป็นอารมณ์ (สุญญตสมาธิ)
           2. สมาธิความตั้งใจมั่น ต้องเพ่งความว่างเปล่า ไม่มีเครื่องหมาย อนิมิตตสมาธิ หรือเพ่งอนิจจังเป็นอารมณ์
           3. สมาธิความตั้งใจมั่น ต้องเพ่งความที่ทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีที่ตั้งคือจิตรับไว้ไม่ได้ เรียกว่าอัปปณิหิตสมาธิ  หรือเพ่งทุกข์ การเพ่ง เพ่งเพื่อรู้ เพ่งเพื่อละ เพ่งเพื่อรู้ทุกข์ เพื่อไม่มีทุกข์ก็พ้นทุกข์นั่นเอง  จึงเรียกสุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยความว่าง อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยความไม่มี อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยจิตไม่รับอารมณ์ไว้ จึงไม่มีทุกข์ นิโรธะความดับทุกข์ก็ดับอารมณ์ที่จิตนั่นเอง เมื่อรู้แล้วก็ละ อาการละก็ละทุกข์นั่นเอง
                ทำใจให้ว่างจากความรู้สึกภายใน เมื่อจิตสะอาดแล้ว เมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ ก็กระทบกับความว่าง ถ้าจิตภายในมีอารมณ์อยู่ เมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ ก็กระทบระหว่างอารมณ์กับอารมณ์ก็เป็นเหตุให้กระแทกจิตเข้ามา ความรู้สึกตัวใหม่ หรือรสชาติย่อมเกิดขึ้นหรือไม่ก็กระแทกอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนาออกไป ถ้าอารมณ์ภายในมีกำลังสูงกว่าก็ครอบงำอารมณ์ภายนอก ถ้าเสมอกันก็ตัดสินด้วยเหตุผลของปัญญา ไม่ชอบใจปฏิฆะเกิดอารมณ์กระทบกันไปมา อาฟเตอร์ช็อคจิตหวั่นไหวหลายครั้ง ย่อมเสียความรู้สึกไม่ว่าง ถ้าจิตสะอาดว่างไม่มีอารมณ์ค้าง จิตใจก็เบาสบายๆ เมื่อมีอารมณ์ภายนอกเข้ามาก็รับได้ทั้งหมด ถ้าเป็นขยะอารมณ์ มะเร็งอารมณ์ ก็วางเฉย ไม่ใส่เข้าไว้ในใจ สละขจัดออกไป
 
                สุญญตสมาธิ จิตก็ตั้งมั่นอยู่กับความว่างเรื่อยๆไป  รู้อารมณ์ไม่รับอารมณ์ ว่างจากอารมณ์ เห็นอนิจจังอารมณ์ รู้อนัตตา อารมณ์ว่างเปล่า อารมณ์เป็นสุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นสูญเพราะไม่มีอารมณ์ อนาลโยไม่มีอาลัย ไม่มาอาลัย ไม่มีอาวรณ์กับอารมณ์ทั้งปวง นิโรธความดับทุกข์ก็ดับอารมณ์นั่นเอง

*     กำหนดรู้ทุกข์เพราะอารมณ์
*     สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะมีตัณหา อยากได้กับอารมณ์
*     การกำหนดรู้ทุกข์อารมณ์ การรู้เหตุให้เกิดทุกข์เพราะอารมณ์รู้ สองอย่างนี้เป็นมรรคหนทางดับทุกข์เพื่อดับอารมณ์
*     การทำอารมณ์ให้ดับไปจากใจ เป็นนิโรธะ ความดับทุกข์สิ้นเชิง
*     ความว่างจากอารมณ์ ความวิมุตติหลุดพ้นอารมณ์ ความสะอาดบริสุทธิ์ของใจที่ปราศจากอารมณ์วิราคะ คลายอารมณ์
*     นิโรธะดับอารมณ์ นิพพานอารมณ์ รู้แล้วละๆ ๆๆ ละอารมณ์สมมติ อารมณ์ปรมัตถ์
Share