เตือนใจผู้ใคร่ปฏิบัติ
พิจารณาธรรม วันศุกร์ที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓
เวลา ๑๕.๓๘ น.
ผู้มีจิตเมตตากรุณา สงเคราะห์ผู้อื่นในขณะที่หน้าที่ของตนยังไม่สำเร็จกิจ จะเป็นเหตุให้เกิดความเนิ่นช้า เป็นการถ่วงให้เสียเวลา นำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะมีอารมณ์อื่น เรื่องอื่นมาทับจิตของตนเอง จัดเป็นโทษ ขาดเมตตากรุณาตนเอง ไม่มีเวลาให้จิตตนเองเป็นอิสระ การพิจารณาจิตแยกจิต แยกอารมณ์ไม่มี มีแต่ความทุกข์ของผู้อื่นจึงต้องกับผู้อื่นและความทุกข์เรื่อยไป
ภาวนาจิต ทำให้มีให้เป็นขึ้น จะเป็นสมถะภาวนา ภาวนาทำใจให้สงบ วิปัสสนาภาวนาให้รู้เรื่อง เรื่องปัญญาทำให้รู้เหตุผลตามเป็นจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง ๒ อย่างก็ได้ คือ ต้องสงบเป็น ต้องเป็นผู้รู้ให้ได้ ทั้ง ๒ รวมเป็น ๑ คือ ผู้รู้ย่อมสงบได้ คือมีทั้งสมถะและวิปัสสนาอยู่ด้วยกัน จึงเป็นผู้พร้อมสมบูรณ์ บริบูรณ์เต็มที่ มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีประโยชน์ทั้งนั้น แต่ต้องรู้จักใช้ให้พอเหมาะ จึงจะให้ได้ผลสมบูรณ์แบบ
ภาวนาที่ว่าเกิดปัญญาแตกฉานได้นั้น รับอารมณ์รู้ มีความรู้ความเห็นแปลกๆ ต่างกันเป็นส่วนมาก
ผู้รู้ได้รู้ใหม่ๆ ข้อสำคัญต้องรู้จักประมาณความพอดี อย่าปล่อยใจให้เพลิดเพลินตามรู้ เพราะจะรู้ทั้งดีและไม่ดี หนักทางไหนก็ตามรู้ไปทางนั้น เพราะไม่ใช่คุณสมบัติเป็นธรรมยั่งยืนแท้จริง ต้องใช้เวลาอบรมฝึกฝนอีกระยะหนึ่งจึงจัดเป็นอานิสงส์ธรรมขั้นต้น
ควรยึดหลักรู้ ! กำหนดสติที่กาย ระลึกไปตามสรรพางค์กายให้รู้แต่ละอย่าง ต้องทำหน้าที่สำคัญแต่ละอย่าง รู้ความเป็นกายเหมือนกัน แต่ก็ไม่เหมือนกัน เช่น หญิงชาย เด็กเล็ก หนุ่มสาว แก่เฒ่า ได้รู้อนิจจังของกาย อนัตตาของกาย เป็นการรู้ชอบ เห็นชอบ รู้จริง รู้แท้ และกำหนดใจ (ตั้งใจ) ให้รู้เป็นหลักเรื่อยไปเสมอ อย่าทิ้งรู้ให้ชำนาญ คล่องแคล่วในการรู้กาย รู้จิต มีกายเป็นอารมณ์ รู้กายเป็นอารมณ์ รู้จิตตั้งมั่นกับกาย มีกายเป็นเป้าหมายของจิต จึงจะถูกต้อง เป็นการงานชอบเป็นมรรคจิต เป็นทางให้จิตรู้ ทำจิตให้สงบกับกาย เอกัคคตากาย มีกายเดียว เอกัคคตาจิต จิตเดียว ที่รู้กายเอกัคคตาอารมณ์ มีอารมณ์เดียว คือรู้กาย เอกัคคตาธรรม ธรรมเดียว ที่จิตรู้ รู้แก่กล้า สงบแก่กล้า เป็นผู้รู้ของสมถะภาวนา รู้พอแล้วก็กลายเป็นญาณความรู้ในความสงบ เกิดการรู้แจ้ง พิจารณาในความสงบก็พบวิปัสสนา ปัญญา ในฌาน ในญาณ โดยลำดับ
เมื่อจิตกลับมาพิจารณากาย พิจารณาจิต คู่ไปสลับกันมา จนมีความกล้า วสีชำนาญ รู้เกิดผลกายสงบเป็นสมถะ จิตรู้เป็นวิปัสสนา ถึงที่สุดรู้ของสมถะวิปัสสนา สงบในความรู้ ตัวรู้ก็วางเฉย ทั้งภายใน ทั้งภายนอก ทั้งสมถะและวิปัสสนา จิตตกกระแสความสงบว่าง จิตตัดกระแสอารมณ์ ความคิด ไม่รับอารมณ์ ในขณะที่ดื่มรสความสงบอยู่ในขณะนั้น
สำหรับผู้ฝึกใหม่ ต้องการความสงบ ต้องพิจารณากายจนเกิดความรู้เรื่อง มีความเข้าใจ พิจารณากายรู้กายชัด จนมีความเบื่อหน่าย คลายความรักกาย คลายความชังกาย จิตสงบรู้เหตุผลถูกต้อง สงัดเงียบในทุกข์ในสุข เพราะได้ผ่านกายสุขกายทุกข์มาแล้ว ทั้ง ๔ อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน สติระลึกกาย สัมปชัญญะรู้กาย สมาธิจิตตั้งมั่นที่กาย จิตที่รู้กายนั้น จะค่อยโน้มไปสู่วิปัสสนาเองโดยอัตโนมัติ อย่ารีบร้อนเพื่อรู้ จะเป็นการชิงสุกก่อนห่าม จะไม่ได้มรรคผลใดๆ จงตั้งใจให้รู้ให้ดี