วัฏฏะสงสาร

บันทึกธรรมเมื่อวันศุกร์ที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๑
 
                สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัพพัญญูรู้ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต รู้การเวียนว่ายตายเกิดของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ด้วยพระพุทธจักขุญาณ สมันตจักขุญาณ ทั้งมนุษย์โลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์และสมณะพราหมณ์ทั้งปวง ทรงรู้แจ้งแทงตลอดทั้งปวงในสรรพสิ่งทั้งปวง ทราบทุกข์ทั้งปวง เป็นด้วยการกระทำเหตุทั้งปวง กัมมุนาวัตตีโลโก สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ทรงแสดงชะตากรรมของสรรพสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นกรรมลิขิตขึ้นอยู่กับการกระทำนั้นเองไม่ใช่พรหมลิขิต  ทรงทราบชัดการปฏิบัติฌานของมนุษย์ให้ไปเกิดในโลกของพรหม พรหมก็ไปเสวยผลของฌานอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด แม้พรหมก็ตกอยู่ภายใต้กรรมลิขิต เพราะมีการปฏิบัติอยู่เป็นกุศลกรรมและต้องไปเป็นตามนั้น ตามกรรม
                ความทุกข์ เสียใจ ร้องไห้ น้ำที่ไหลออกมา ถ้ารวบรวมไว้มากกว่า ๔ มหาสมุทร เนื้อและกระดูกรวบรวมไว้มากกว่าภูเขาสูง ก็ทำให้รู้ว่ามนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายทำกรรมชั่วมากกว่ากรรมดี น้ำตาจึงมากกว่ามหาสมุทร เนื้อที่เกิดตายๆๆ มากกว่าภูเขาสูง
                น้ำตาที่ไหลออกมาด้วยความดีใจ สมหวัง ปิติ เป็นน้ำที่เย็น น้ำตาที่ไหลออกมาด้วยความทุกข์ เสียใจเป็นน้ำตาที่ร้อน น้ำตาที่ไหลออกมาด้วยความสมหวังในชีวิตเป็นโชคลาภครั้งแรกที่ได้รับรางวัลชีวิต มีใจปิติเบิกบาน น้ำตาก็ไหลออกมาเป็นน้ำตาเย็น
                น้ำตาที่ไหลออกมาด้วยความอาลัยบุคคลเป็นที่รักจากไปเป็นความทุกข์ที่พลัดพราก ที่ร้อนใจกินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็เป็นน้ำตาที่ร้อน คนชั่ว คนพาลที่ต้องหลั่งน้ำตาเพราะสำนึกในความชั่วของตนเองก็เป็นน้ำตาร้อน สำหรับผู้รู้มีปัญญามีความเห็นว่าน้ำตาเป็นบทเรียนที่ต้องจำไว้สอนใจ ฟอกความโง่ของใจที่มันไหลออกมาด้วยความโง่เสียรู้ถูกเขาหลอก น้ำตาจึงไหลออกมาด้วยความอาลัยรัก๑ เจ็บแค้น๑ ถูกทรมาน๑ สำนึกตัว๑ มีปิติ๑ น้ำตาไหลออกมาได้ทั้งนั้น น้ำตาดุจห้วงมหรรณพกว้างใหญ่ไพศาล
                ผู้ใดปรารถนาความสวัสดี มีความสุข ต้องปิดกั้น ป้องกันก่อสร้างทำนบกั้นไว้ไม่ให้มันไหลท่วมใจของเรา ท่วมโลกทุกแห่งหน หลั่งไหลมาเมื่อยามทุกข์ให้เป็นน้ำตาน้ำตกอยู่ข้างใน
                เมื่อใดจิตใจอยู่เหนืออารมณ์อยู่เหนือกามารมณ์ อยู่เหนืออาสวะแล้วก็มีชัยชนะมีชีวิตสมบูรณ์แบบแล้ว โลกก็สดใส ใจก็สวยงาม มืดแล้วก็สว่าง กาลเวลาบอกเราเอง พระพุทธเจ้าตรัสรู้เอง ทรงตรัสว่า ธรรม คือสติความระลึกได้ เป็นธรรมเครื่องกั้นกระแสโลก เป็นทำนบหรือกำแพงกั้นความรู้สึก ให้มั่นใจในคติธรรมดา เห็นกาลเวลาหมดไปอย่างรวดเร็ว น้ำตาก็จะหมดไปเอง ระลึกรู้ดูความเปลี่ยนแปลงของโลก ของตัวเรา น้ำตาโปรดไหลให้เต็มตา มองดูกาลเวลาที่ผ่านไป ความเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวความแก่เฒ่าชรา ก็จะพบเห็นพระธรรม คือ พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นสิ่งจำเป็น
                ดุจห้วงน้ำใหญ่เป็นที่พึ่งพาอาศัยของปลาและของเต่า ทั้งมนุษย์ สัตว์ ฉลาด โง่ ก็ต้องการความมีน้ำใจด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ของผู้ประเสริฐ มีปัญญาและอำนาจหน้าที่ ไม่เลือกชั้นวรรณะที่เป็นใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ถ้าเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเหือดแห้งไปแล้ว ก็เหมือนธารธาราบ่อน้ำทุกสายก็พลอยเหือดแห้งไปด้วย ขอให้ท่านผู้เป็นใหญ่ทั้งทางโลกทางธรรมจงอยู่เป็นธารน้ำบ่อน้ำน้อยๆ ให้ชนทั้งหลายสัตว์ทั้งหลายได้อยู่เป็นครอบครัว พร้อมหน้าพ่อแม่ลูกเมียสามีภรรยาให้มีความสุขสมควรตามอัตตภาพ เป็นบ้านเป็นเมืองมีที่พักพิงอาศัยเป็นที่พึ่งหลบภัยคราวทุกข์คราวร้อนไม่ทุกข์ยากลำบากเกินไป
                แต่ภัยภายในจิตใจต้องระวังรักษาอารมณ์ใจด้วยมีสติและปัญญา! เออ ! โรคภัยของลูกหาย ! โรคใจของแม่ก็สุขสบาย ! ต้องวิจารณ์วิจัยส่วนกระทบเพราะมีผลข้างเคียงทั้งสองฝ่ายคือแม่กับลูก ! คอยแบ่งเบาบรรเทาพออยู่ได้ก็ดีแล้ว! หยุด ! ทำใจให้อยู่ในใจ ! อย่าให้ใจไปอยู่กับอารมณ์ ! ให้แยกใจออกจากใจ ดูความรู้สึกของใจ ก็เหมือนแม่แยกความรู้สึกออกจากอารมณ์รักลูก  จำต้องแยกภาระหน้าที่ การงานกับความรักตน ! ความรักลูก!และอารมณ์หน้าที่ต้องเลี้ยงดูตนเองต้องหามาเลี้ยงลูก แต่ละอย่างทั้ง ๓ นี้มีความสำคัญเท่ากันหมดควรทำอย่างไร ควรแยกความสำคัญยิ่งใหญ่มากน้อยตามลำดับ ๓ อย่าง ด่วน! ด่วนมาก!ด่วนพิเศษ! ปัจจุบันอะไรด่วนพิเศษทำก่อน ด่วนมากทำเป็นลำดับ ๒ ด่วนทำเป็นลำดับ ๓ เหมือนนัยที่พระองค์ทรงสอนให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ
สละทรัพย์อวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละทรัพย์อวัยวะชีวิตเพื่อรักษาธรรม คือยุติธรรมฯลฯ
                ถ้าแยกใจออกจากใจด้วยสติระลำถึงใจ !แยกใจออกจากสติการระลึก ! ก็เท่ากับแยกใจออกจากอารมณ์ได้ เพราะสติ ! เป็นตัวเชื่อมระหว่างจิตกับอารมณ์ ! สติความระลึกได้ก็ระลึกไปตามสัญญาอารมณ์ ยกสติออกไปหยุดว่างไม่ระลึก อารมณ์ก็เป็นอารมณ์ จิตก็เป็นจิต

                สติก็ระงับสติด้วยสัมปชัญญะรู้สติ เมื่อรู้สติก็แยกจิตออกจากสติ  อารมณ์ดับจิตทรงตัวรู้จิตอยู่ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจก็อาศัยสติระลึกอยู่กับอารมณ์ จมอยู่ในอารมณ์นั้นเอง สติจึงเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดโทษเป็นทุกข์ทั้งปวง ปัญญารู้แล้วอบรมสติ ให้สติระลึกถึงอนัตตาความว่างสติ ระลึกได้ตามนี้ก็เป็นสติวินัย ระลึกอยู่ในระเบียบก็เป็นสติสังวร ปัญญารอบรู้ อบรมสติได้สงบเป็นญาณสังวร ใจอยู่ด้วยสติอดทน ก็เป็นขันติสังวร จิตรู้สติมีสัมปชัญญะพร้อมแยกจิตจากสติอารมณ์ดับเป็นมรรคจิต เป็นทางดับอารมณ์ดับทุกข์ทั้งปวง นิโรธะดับทุกข์ก็ดับอารมณ์ทั้งปวง

                เอาสติระลึกความว่าง สัมปชัญญะรู้ความว่าง จิตไม่มีอะไร จิตไม่อาลัย จิตว่างเปล่าจากอารมณ์ทั้งปวง จิตว่างจากอุปทานทั้งปวง วิมุติหลุดพ้นไปจากอารมณ์ทั้งปวง เป็นความดับไม่มีเชื้อทั้งปวง เพราะอารมณ์เป็นอาสวะหมักดองประทับใจขังไว้ที่ใจ เพราะอารมณ์เป็นต้นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำเกิดราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ นิโรธะความดับทุกข์ก็ดับอารมณ์ทั้งปวง สติระลึกถึงความสงบก็เป็นสมถะกรรมฐาน อุบายสงบใจ สติระลึกไป รู้ไปละไปก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา สติระลึกตามสัญญาอารมณ์เพื่อรู้อารมณ์ ละอารมณ์ได้เด็ดขาดจนจิตรู้แล้วละ รู้แล้ว รู้แล้วละเองโดยอัตโนมัติ ด้วยละจนชำนาญ จนจิตไม่รับอารมณ์ ว่างเปล่าจากอารมณ์จิตถึงความสงบระงับอารมณ์ ถ้าจิตดับจิตตอนนี้ก็นิพพานังปรมังสูญญัง เพราะดับสมมุติวิมุติ ทั้งสมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะที่ดับสมมุติและปรมัตถ์ก็เพราะเป็นบัญญัติด้วยกัน จึงใช้คำว่าดับสมมุติและวิมุติ สติสงบแล้วเกิดปัญญาดับทุกข์ดับอารมณ์ จึงขอเรียกว่าสมาธิอบรมปัญญา เกิดปัญญาแล้วทำใจทำสติให้สงบจากอารมณ์ เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ เพราะจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์เป็นสุขเพราะรู้เท่าทันอารมณ์ ไม่ตกเป็นทาสอารมณ์ รู้แล้วซึ่งอารมณ์ทั้งปวง จิตเป็นสุขด้วยใจไม่ยึดอารมณ์ เพราะเข้าใจไม่สงสัยในอารมณ์ จิตดับลงขณะจิตเป็นสุขนี้เรียกว่านิพพานัง ปรมังสุขัง
                ทำให้เข้าใจว่า สอุปาทิเสสนิพพาน คือการดับอารมณ์ดับอุปทานที่ก่อให้เกิดกิเลสละกองทุกข์ที่สะสมไว้ สะสมอารมณ์ สะสมอุปทาน จนตกผลึกเป็นอนุสัยวาสนาที่พระปัจเจกโพธิ์พุทธเจ้า  พระอรหันต์สาวกพระพุทธเจ้า ละอนุสัยวาสนาได้ไม่หมด ละได้หมดคือสัพพัญญูพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะอะไร? เพราะการสั่งสมพุทธการกธรรมไม่เท่ากัน
                พระพุทธเจ้าปัญญาธิกะคิดปรารถนาต้องการเป็นพระพุทธเจ้า ๘ อสงไขยแสนกัลป์เป็นประมาณ จึงสามารถเผยวาจาบอกความปรารถนาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าๆ จึงทรงพยากรณ์สืบๆ กันมาอีก ๔ อสงไขยแสนกัลป์โดยประมาณจึงได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                พระพุทธเจ้าสัทธาธิกะคิดปรารถนาต้องการเป็นพระพุทธเจ้า ๑๖ อสงไขยแสนกัลป์เป็นประมาณ จึงสามารถเผยวาจาบอกความปรารถนาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าๆ จึงทรงพยากรณ์สืบๆ กันมาอีก ๘ อสงไขยแสนกัลป์โดยประมาณจึงได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                พระพุทธเจ้าวิริยาธิกะคิดปรารถนาต้องการเป็นพระพุทธเจ้า ๓๒ อสงไขยแสนกัลป์เป็นประมาณ จึงสามารถเผยวาจาบอกความปรารถนาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าๆ จึงทรงพยากรณ์สืบๆ กันมาอีก ๑๖ อสงไขยแสนกัลป์โดยประมาณจึงได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                พระปัจเจกโพธิ์พุทธเจ้าคิดปรารถนาเป็นพระพุทธปัจเจกโพธิ์พุทธเจ้า ต้องสั่งสมบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ๒ อสงไขยแสนกัลป์โดยประมาณจึงได้สำเร็จเป็น พระปัจเจกโพธิ์พุทธเจ้า
                พระอัครสาวกซ้ายขวา เช่นพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ต้องสร้างบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ๑อสงไขยแสนกัลป์โดยประมาณจึงได้สำเร็จเป็นอัครสาวกบารมีญาณตามปรารถนาต้องการ
                พระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ต้องสร้างบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี แสนกัลป์จึงสำเร็จเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าพระสาวกรูป เป็นผู้ชำนาญเฉพาะทางเป็นเลิศในทางนั้น เช่น พระมหากัสสปะเป็นเลิศในทางธุดงค์
                ส่วนพระอรหันต์สาวกธรรมดาได้ทำบุญกับพระอรหันต์สาวก เช่น ใส่บาตรแล้วอธิษฐานว่าขอเป็นผู้มีส่วนในธรรมทั้งหลายที่ท่านได้บรรลุถึงแล้ว พระท่านโมทนาว่า อิจฉิตังขิปปัง สมิจฉตุ  ขอจงสำเร็จโดยพลันเพียงแค่นี้อาจส่งผลให้สำเร็จถ้ามีศรัทธาบวช แล้วศึกษาอบรมกับท่านด้วยความเคารพ มิช้านานคงสำเร็จตามท่านนี้มีกล่าวอยู่ในพระไตรปิฎกเช่น พระปูติกัสสะ ผู้มีกายเน่าเคยเป็นพรานจับนก
                ระลึกมากด้วยการใช้ปัญญาเป็นมหาสติ!
            มหาปัญญา คือ การระลึกด้วยความรู้ระลึกไป รู้ไปๆๆเรื่อยๆ พิจารณารู้ไปในขณะนั้นเรื่อยๆ ก็เป็นวิปัสสนา คือเห็นตามรู้! ไม่ใช่รู้ตามเห็น ! ที่รู้ตามเห็นเป็นเพียงกิริยารู้ คือ รู้ไปตามหน้าที่ รู้แล้วมาเห็นเทียบเคียงได้ทันที เราต้องการรู้แบบไหน? ก็ฝึกรู้ไปตามนั้น ปัญญาที่ได้รู้เห็น มีความรู้สึกต่างกันปัญญาที่รู้ต่างกัน
                ส่วนเห็นแล้วค่อยรู้มักช้าไปไม่ทันใจ อาจพลาดนาทีทอง สิ่งที่ทุกคนต้องการรู้คือตัวรู้นั่นเอง ครูบาอาจารย์ทั่วไปต้องการตัวรู้มาก เพราะเกิดยากหาได้ยาก ยิ่งรู้ได้โดยไม่ต้องกำหนดจิต เห็นปุ๊บ รู้ปั๊บ เข้าใจทันที เพราะไม่มีสังขารปรุงแต่ง จึงไม่มีทุกข์ในการรู้ อย่างนี้เองกระมังที่เรียกว่า อเสสะ หมดการศึกษา เห็นรู้เข้าใจทันที ถ้าเราไม่รู้ใครเขาจะรู้  สิ่งที่ถูกเห็นเป็นนิมิตเครื่องหมาย ผิดถูกเป็นเครื่องหมายให้ผู้รู้มีความรู้ได้รู้ เห็นพุทธะก็เห็นผู้รู้ เช่นเห็นพระเกตุมาลา มีเปลวรัศมีแหลมๆ เป็นนิมิตแสดงให้รู้ว่าปัญญาพัฒนารู้ ญาณเข้าใจในรู้เฉียบแหลมกว่าเก่า แหลมขึ้นดีกว่าเก่ามาก ความรู้เพิ่มไม่เหมือนเดิมที่เคยรู้มา ปัญญารู้เองว่า อนิจจังรู้เพราะจำเป็นต้องรู้ รู้ที่สุดรู้จะมีอะไรให้รู้ เมื่อไม่มีอะไรให้รู้ รู้มันก็สงบรู้นั่นเอง ว่างจากความรู้ก็ว่างจากอารมณ์ เรียกว่าอารมณ์สงบ จิตสงบ จิตทรงอารมณ์สงบ ธรรมารมณ์ก็สงบ จิตเป็นจิตเหมือนกับไม่มีอารมณ์ไม่มีรู้จิตไม่รับอารมณ์รู้ ครึ่งหลับครึ่งตื่นจิตจมอยู่ในสมาธิครึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่งโผล่ครึ่งหนึ่ง อย่าพอใจแบบนี้ 
                อารมณ์มากระทบรู้ไม่มีการปรุงแต่งอารมณ์ จิตไม่รับอารมณ์ ดีชั่วคราว ไม่เหมาะ ผู้มีความกังวลกับการเป็นแม่บ้านแม่ศรีเรือน ผู้ยังพัฒนาจิตไม่ถึงที่สุด แต่ก็เป็นธรรมดาต้องรู้ เรียกอเนญชาสมาบัติก็ได้ อเนญชาภิสังขาร  รู้แต่ปรุงแต่งไม่ได้ จิตเป็นจิต ไม่จมอยู่ในสมาธิ ทรงตัวรู้ผู้รู้อยู่เหมือนลอยอยู่เหนือสมาธิ จึงรู้ได้ตลอด รู้ไม่มีอะไรให้รู้ มีลักษณะจิตอย่างนี้ ไม่มีการปรุงแต่งและไม่ครึ่งหลับครึ่งตื่น จิตตื่นอยู่รู้อยู่ตลอด ไม่มีอารมณ์กับการกระทบ รู้แล้วแต่วางเฉย ไม่ใช่ปล่อยวาง รู้แล้วผ่านละเว้นไปทันที อุเบกขาเจโตวิมุติ คล้ายลักษณะอย่างนี้ รู้รอบหมดแล้วไม่มีอารมณ์ มีจึงเหมือนไม่มี ไม่มีอาลัย ไม่อย่างนั้นคงไม่เรียกอุเบกขา เพราะวางเฉยกับอารมณ์ที่มีอยู่ มีตัวรู้กับวางเฉย คงเป็นฌาน ๔ แต่มีตัวรู้มากกว่าวางเฉย ฤทธิ์เดชไม่มีแต่มีความสงบจิตไม่ดิ้นรน
                ร่างกายอ่อนเพลีย๑  อดนอน๑  ตรากตรำทำงาน๑  อาหารไม่พอ๑  พักผ่อนไม่พอ๑  โรคร้ายเบียดเบียน๑ เลือดลมไม่ดี๑  มีทุกข์มากเกินไป๑
                เป็นเหตุให้สุขภาพกายสุขภาพจิตไม่สมบูรณ์ มีปัญหาไม่สบาย ไม่สบายใจ ปัญญาไม่ผ่องใส ไม่สดชื่น เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ หงุดหงิด โมโหง่าย ใจน้อย สร้างความไม่สงบให้กับตนเอง
                การปฏิบัติฝึกหัดทำความเพียรให้เกิดขันติความอดทนอดกลั้นกับอารมณ์ยั่วยุที่มากระทบให้ได้ทุกอย่าง ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้อยู่อย่างสงบใจ ไม่ซุกซนปรุงแต่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็สงบไปเอง ทำความเพียรสู้อารมณ์ให้สมศักดิ์ศรี ผู้มีปัญญาตามสมควรแล้ว อด อิ่ม ยิ้มได้พอกัน ยอมรับสภาวะตามจริงแล้ว ไม่ฟุ้งซ่าน พล่านคิด มีจิตบริสุทธิ์
                พ่อแม่ ญาติพลอยได้รับผลอานิสงส์เป็นสุข และยังช่วยอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง สืบทอดพระธรรมคำสั่งสอน ชนดีในประเทศชาติ ก็จะพาชาติให้เจริญรุ่งเรืองตลอดกาลนาน ฝึกจิตอบรมใจวันนี้ เดี๋ยวนี้ ด้วยขันติ ชนะใจตนเองด้วย ชนะทุกข์ด้วยใจ มีความสงบด้วย ทุกคนมีธรรม ขันติดีไหม? ชอบไหม? ปฏิบัติแล้วทุกคนจะโชคดี มีลาภ มีความสุขสงบ
                มุทิตาโมทนาสาธุ    มุทิตาโมทนาสาธุ    มุทิตาโมทนาสาธุ
Share