สมาธิอยู่ที่ใจ

 
เวลา พิจารณาธรรม วันจันทร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
๑๒.๓๘ น.

 

                สมาธิอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย อาศัยอบรมใจ ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย พลอยสำรวมไปด้วย ตาใจ ใจเห็น เห็นใจ เป็นเรื่องของใจ ที่อบรมมาดีแล้ว เลยไม่ยุ่งใจ-ไม่เสียใจ-ไม่ลำบากใจ-ไม่สบายใจ-ไม่ทุกข์ใจ เลยพลอยหยุดหายไปหมดสิ่งเหล่านี้

 

                มีสติระลึกรู้อยู่ที่ใจ ปฏิบัติที่ใจ มีสติสัมปชัญญะกำกับใจ จึงรู้เท่าทันใจ รู้เท่าทันอารมณ์ของใจ ทำใจเชื่องได้ไม่ดิ้นรน สงบจิตด้วยปัญญา อุเบกขา สมาธิตั้งมั่นกับความว่างจึงเกิดขึ้น ตั้งมั่นในระหว่างอารมณ์และใจ ว่างทั้งอารมณ์ ว่างทั้งความรู้สึกในจิต ทั้งอารมณ์ ทั้งใจ ตายไปด้วยกัน จิตครึ่งหลับครึ่งตื่น  จะขึ้นก็ไม่ขึ้น จะลงสงบก็ไม่ได้ อันนี้เองที่เรียกว่า เนวสัญญา นาสัญญา ยตนะฌาน จะรับรู้อารมณ์ก็ไม่ใช่ จะรับอารมณ์ก็ไม่ใช่ เมื่อจิตไม่รับอารมณ์ มีผู้รู้เด่นชัด เป็นสุญญตะสมาธิ ทรงรู้กับความไม่มี จิตสงบกับความรู้ เป็นธรรมเดียว เอโกธัมโม เอกัง จิตตัง จิตเดียว ที่ปรากฏเด่นชัดไม่ปรุงแต่ง ไม่มีวิจารความตรอง ไม่มีปิติ ไม่มีสุข สังขารจิตไม่ปรุงแต่ง มีแต่ความสงบ สันตังปณีตัง สงบอย่างปราณีต

 

                แล้วค่อยๆ น้อมลงมาพิจารณากาย แต่ละส่วนรู้ตามอาการ ๓๒ เห็นชัด สภาพเป็นจริง กลับไปกลับมา ทำความรู้สึกให้เกิดมีความรู้สึกในอารมณ์พิจารณา จะชังก็ไม่เชิง จะยึดถือก็ไม่ยึดถือ  เพราะเป็นสวะสังขารธรรม คู่กับสังขารกรรมเพราะตกแต่งมาสำเร็จรูปแล้ว การเต้นของหัวใจแผ่วลงอ่อนลงมาก การถ่ายเทลมหายใจไม่ปรากฏ เห็นอยู่รู้อยู่แต่ทำอะไรไม่ได้ เห็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีพลัง เป็นการเปรียบเทียบภายในความรู้สึกทางจิต รู้ในการเคลื่อนไหว รู้ในการไม่เคลื่อนไหว  สมาธิตั้งมั่นดูความเคลื่อนไหว สมาธิตั้งมั่นสงบไม่เคลื่อนไหว จิตรู้สภาพในขณะนั้น อาการของจิตเป็นอย่างนั้น สภาวะจิตเป็นอย่างนั้น  ไม่ตามอารมณ์ ไม่ตามใจ ไม่นึกถึงบัญญัติ ไม่รับรู้บัญญัติ จึงเป็นกลางระหว่างอารมณ์กับความรู้สึกทางใจ

 

                เมื่อจิตคลายสงบ อารมณ์ พิจารณา ทำความเข้าใจกับความรู้ จึงรับรู้ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอารมณ์ ของความรู้สึกในการเปลี่ยนแปลง ที่แปรปรวน หมดสภาพของร่างกายที่ทรุดโทรม อาหารไม่สะอาด เป็นพิษเป็นโทษแก่กาย ทำกายให้ชรา ไม่มีพลัง ซ้ำเกิดโรค ทำให้แก่เจ็บตาย อาหารมากเกินไป ก็สะสมหมักหมม  เหมือนกองขยะที่กำลังบูดเน่าเป็นก๊าซ เป็นพลังงาน  ไปเร่งเครื่องในให้ทำงาน ตับไตไส้พุงเริ่มขยับขยาย เร่งหัวใจให้เต้นปึบปับ เครื่องในบีบรัดกรองย่อย

 

                เกิดความร้อน เหงื่อแตก ย่อยอาหาร น้ำมากเกินไป เย็น อาหารบูดเน่า ท้องเฟ้อเกิดลม ร้อนเผ็ดก็กระวนกระวาย ทำให้น้ำดีกำเริบวิปริต สติฟั่นเฟือน ฟุ้งซ่าน  ต้องอยู่ที่โล่งอากาศถ่ายเทสะดวก อยู่ในที่สบาย ไม่ร้อนไม่เย็น อารมณ์สบาย จิตใจสบาย อาหารค่อยๆ ย่อยไปดี  เป็นการสมดุล ธาตุขันธ์ สุขภาพดี แข็งแรง มีความสบายใจ ไม่มีโรคทางกาย เพราะมีจิตสงบ กายวาจาก็สงบไปตาม

Share