จิตตานุปัสสนา
ปัญญาตามเห็นจิตนี้ คือ ตั้งสติกำหนดอารมณ์ที่เข้ามาผสมจิต ทำให้จิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว เพราะจิตนี้เห็นได้ยาก แต่ไม่ใช่ตั้งสติกำหนดแล้วจะไม่เห็น หากแต่เป็นของธรรมชาติละเอียดอ่อน จึงต้องใช้สติที่ประกอบครบองค์และต้องหมั่นกำหนดรู้อารมณ์อยู่ทุกขณะ ไม่เช่นนั้นจิตมักจะจากไป ในอารมณ์เป็นที่ใคร่จะยั้งไว้ไม่อยู่ และจะกำหนดจิตไม่ได้ ในพระสูตรจึงทรงแสดงอารมณ์ของจิตไว้เพื่อเป็นเครื่องประกอบปัญญาตามเห็น ๑๖ คือ
๑. สราคจิต จิตมีราคะ (นี่แสดงว่าราคะก็ไม่ใช่จิตแต่เป็นเครื่องผสมจิต)
๒. วีตราคจิต จิตหายราคะ (นี่แสดงว่าหายราคะก็ไมใช่จิต)
๓. สโทสจิต จิตมีโทสะ (นี่แสดงว่าโทสะก็ไมใช่จิต)
๔. วีตโทสจิต จิตหายโทสะ (นี่แสดงว่าหายโทสะก็ไม่ใช่จิต)
๕.สโมหจิต จิตมีโมหะ (นี่แสดงว่าโมหะก็ไม่ใช่จิต)
๖. วีตโมหจิต จิตหายโมหะ (นี่แสดงว่าหายโมหะก็ไม่ใช่จิต)
๗. สังธิตตจิต จิตหดหู่ (นี่แสดงว่าหดหู่ก็ไม่ใช่จิต)
๘.วิกกธิตตจิต จิตฟุ้งซ่าน (นี่แสดงว่าฟุ้งซ่านก็ไม่ใช่จิต)
๙. มหัคคตจิต จิตกว้างขวาง (นี่แสดงว่ากว้างขวางก็ไม่ใช่จิต)
๑๐.อมหัคคตจิต จิตไม่กว้างขวาง (นี่แสดงว่าไม่กว้างขวางก็ไม่ใช่จิต)
๑๑.สุอุตตรจิต จิตหยิ่ง (แสดงว่าหยิ่งก็ไม่ใช่จิต)
๑๒.อนุตตรจิต จิตไม่หยิ่ง (แสดงว่าไม่หยิ่งก็ไมใช่จิต)
๑๓.สมาหิตจิต จิตเป็นสมาธิ (แสดงว่าสมาธิก็ไม่ใช่จิต)
๑๔.อสมาหิตจิต จิตไม่เป็นสมาธิ (นี่แสดงว่าไม่เป็นสมาธิก็ไม่ใช่จิต)
๑๕.วิมุตตจิต จิตหลุดพ้น (นี่แสดงว่าวิมุตติหลุดพ้นก็ไม่ใช่จิต)
๑๖.อวิมุตจิต จิตไม่หลุดพ้น (นี่แสดงว่าวิมุติไม่หลุดพ้นก็ไม่ใช่จิต)
เมื่อพิจารณาตามนัยนี้ก็จะเห็นได้ว่า ที่ทรงแสดงเช่นนี้ประหนึ่งทรงชี้ลักษณะของจิตไว้ ไม่ใช่ทรงแสดงราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนั้นคือจิต แต่ราคะเป็นต้นนั้นเป็นเครื่องผสมจิต ซึ่งเรียกว่าอารมณ์ในที่นี้แหละเป็นอารมณ์ฝ่ายอกุศลเจตสิก เมื่อราคะเป็นต้นเข้ามาผสมจิต จิตดวงนั้นเองเป็นจิตมีราคะ เรียกชื่อเป็นบาลีว่า สราคจิต จิตมีราคะ เพราะในขณะนั้นราคะมีอยู่ที่จิตดวงนั้น ราคะเป็นต้นจึงไม่ใช่จิต เมื่อราคะเป็นต้น ไม่มีที่จิตขณะใด ขณะนั้นจิตที่มีราคะดวงนั้นเองก็หายราคะ เพราะในขณะนั้นราคะไม่มีอยู่ที่จิตดวงนั้น และจิตดวงนั้นนั่นเองเป็นจิตหายราคะ เรียกชื่อเป็นบาลีว่า วีตราคจิต วีตราคะคือ หายราคะก็ไม่ใช่จิต แต่เพราะเข้ามาผสมจิตให้หายราคะในที่นี้ จึงเรียกหายราคะเป็นต้นนั้นว่าอารมณ์ และเป็นอารมณ์ฝ่ายกุศลเจตสิก ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับอารมณ์ฝ่ายอกุศลเจตสิก เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาในลำดับที่จะกล่าวต่อไป
อนึ่งควรพิจารณาซ้ำอีกว่า ถ้าวิมุติคือจิตใครเล่าเป็นผู้หลุดพ้น ข้อนี้มีบาลีในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ แสดงไว้ชัดว่า
“กามาสวาปิ จิตฺตํวิมุจจิตฺถ ภวาสวาปิ จิตตํ วิมุจฺจิตฺถ อวิชฺชา สวาปิ จิตฺตํ วิมุจฺจิตฺถ” จิตหลุดพ้นแล้วแม้จากอาสวะเนื่องด้วยกาม จิตหลุดพ้นแล้วแม้จากอาสวะเนื่องด้วยภพ จิตหลุดพ้นแล้วแม้จากอาสวะเนื่องด้วยอวิชชา ดังนี้เป็นหลักพิจารณา จึงเห็นได้ชัดว่า จิตเป็นผู้หลุดพ้น หรือหลุดพ้นคือจิต ไม่ใช่วิมุติ แต่วิมุติเป็นกิริยาของจิต คือทำจิตให้หลุดพ้น เพราะฉะนั้นวิมุติจึงไม่ใช่จิต เป็นเพียงกิริยาจิต แม้บทอื่นๆ ที่เหลือก็พึงเทียบโดยนัยนี้
ปัญญาตามเห็นซึ่งจิต ในจิตที่ประกอบด้วยอารมณ์เป็นเหตุให้เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ตามที่กล่าวแล้วทั้ง ๑๖ แบบนั้น แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยสักว่าจิตไม่ใช่ตัวตน เรียกว่า จิตฺเตจิตฺตา นุปสสี ปัญญาตามเห็นในจิต
ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรแก้เรื่องจิตไว้ดังต่อไปนี้
สราคะได้แก่ (จิต) สหรคตด้วยโลภะ ๘ (นี่แสดงว่าโลภะไม่ใช่จิต หากแต่เป็นเครื่องสหรคตกับจิต) วีตราคะได้แก่ (จิต) เป็นกุศลและอัพยากฤตฝ่ายโลกิยะ (นี่แสดงว่ากุศลและอัพยากฤตก็ไม่ใช่จิต) สโทสะได้แก่ (จิต) สหรคตด้วยโทมนัส ๒ (นี่แสดงว่าโทมนัสก็ไม่ใช่จิต) วีตโทสะได้แก่ (จิต) เป็นกุศลและอัพยากฤตฝ่ายโลกิยะ (นี่แสดงว่ากุศลและอัพยากฤตก็ไม่ใช่จิต) สโมหะ ได้แก่ (จิต) สหรคตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะ (แสดงว่าวิจิกิจฉาและอุทธัจจะก็ไม่ใช่จิต) วีตโมหะได้แก่ (จิต) เป็นกุศลและอัพยากฤตฝ่ายโลกิยะ (นี่แสดงว่ากุศลและอัพยากฤตก็ไม่ใช่จิต) สังธิตตะได้แก่ (จิต) ที่ถีนมิทธะครอบงำ (นี่แสดงว่าถีนมิทธะก็ไม่ใช่จิต) วิกธิตตะได้แก่ (จิต) สหรคตด้วยอุทธัจจะ (นี่แสดงว่าอุทธัจจะก็ไม่ใช่จิต) มหัคคตะได้แก่ (จิต) มีรูปและอรูปเป็นอารมณ์ (นี่แสดงว่ามีรูปที่ไม่ใช่กาม คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เป็นอารมณ์ฝ่ายกุศล) อมหัคคตะได้แก่ (จิต) มีกามเป็นอารมณ์ (นี่แสดงว่ายังละกามไม่ได้) สอุตระได้แก่ (จิต) มีรูปเป็นอารมณ์ (นี่แสดงว่ามีรูปที่ไม่ใช่กาม คือ รูปฌาน ๔ เป็นอารมณ์ฝ่ายกุศล) อนุตตระ ได้แก่ (จิต) มีอรูปเป็นอารมณ์ (นี่แสดงว่ามีอรูปฌาน ๔ เป็นอารมณ์ฝ่ายกุศล) สมาหิตะ ได้แก่ (จิต) มีอัปปนาสมาธิหรืออุปจารสมาธิ (นี่แสดงว่าจิตเป็นสมาธิ) อสมาหิตะ ได้แก่ (จิต) เว้นจากสมาธิทั้งสองนั้น (นี่แสดงว่าจิตไม่เป็นสมาธิ) วิมุตตะได้แก่ (จิต) หลุดพ้นด้วยวิมุติและวิธัมภนวิมุติ (นี่แสดงว่าจิตหลุดพ้นได้) อวิมุตตะได้แก่ (จิต) เว้นจากวิมุติทั้งสองนั้น (นี่แสดงว่าจิตยังไม่หลุดพ้น)
ทางพิจารณาในพระสูตรนี้ ทรงแสดงลักษณะของจิตถึง ๑๖ ประการ ก็เพื่อให้พิจารณาเห็นว่า จิตเป็นเช่นไรเศร้าหมอง จิตเป็นเช่นไรผ่องแผ้ว คือจิตเศร้าหมองเพราะเหตุไร จิตผ่องแผ้วเพราะเหตุไร และมีผลเป็นอย่างไร มีพระพุทธภาษิตในวัตถูปมสูตร (ม.มู.) เป็นหลักประกอบการพิจารณาดังต่อไปนี้
จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตเศร้าหมองทุคคติเป็นต้องหวัง
จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมองสุคติเป็นอันหวังได้
ใครเป็นผู้หวังทุคคติหรือสุคติจิต หรือมิใช่
เพราะทรงชี้จิตเป็นเหตุแห่งทุคคติและสุคติไว้ จึงเห็นได้ว่าจิตนั่นเองเป็นผู้หวัง และทุกครั้งในปัจจุบันนี้เอง ถ้าจิตเศร้าหมองเป็นต้องหวังทุคคติแน่ ถ้าจิตไม่เศร้าหมองก็เป็นต้องหวังสุคติ เมื่อในปัจจุบันนี้เป็นเช่นไร ก็เป็นทางส่องให้สันนิษฐานถึงภายหน้าได้ด้วย
ก็อะไรทำให้จิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว เมื่อพิจารณาตามพระสูตร และอรรถกถาประกอบกันคงได้ความว่า ราคะ โทสะ โมหะ
ถีนมิทธะ อุทธัจจะ เหล่านี้เมื่อเข้ามาผสมจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง หายราคะ หายโทสะ หายโมหะ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และวิมุติ เหล่านี้เมื่อมีอยู่ภายในจิต ทำจิตให้ผ่องแผ้ว จะแสดงเฉพาะโทสะกับหายโทสะพอเป็นทางพิจารณาดังต่อไปนี้
จิตเศร้าหมองก็เพราะโทสะ จิตผ่องแผ้วก็เพราะหายโทสะ โทสะเมื่อเข้ามาผสมจิต ทำจิตให้เศร้าหมอง เ หายโทสะเมื่อเข้ามาผสมจิต ทำจิตให้ผ่องแผ้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ โทสะและหายโทสะ นั้นหรือคือจิต อันที่แท้จิตแสดง
โทสะ เพราะโทสะมีที่จิต หรือจิตหายโทสะ เพราะโทสะไม่มีที่จิต และก็จิตดวงเดียวกันนั่นเอง มิใช่จิตดวงอื่นเลย เพียงแต่ตรงขณะกัน คือเมื่อจิตดวงนั้นผสมกับโทสะจึงเรียกว่าจิตมีโทสะ ครั้นจิตดวงนั้นเองไม่มีโทสะ ก็เรียกว่าจิตหายโทสะ เพราะโทสะและหายโทสะจะเกิดพร้อมในขณะเดียวกันไม่ได้ ขณะเมื่อโทสะดับจึงกลับเป็นหายโทสะ และขณะเมื่อหายโทสะดับก็กลับเป็นโทสะ แต่ไมใช่จิตเกิดหรือดับ หากแต่เปลี่ยนรับอารมณ์ต่างขณะกัน คือรับโทสะบ้าง รับหายโทสะบ้าง โทสะจึงเกิดหรือดับต่างหาก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนไฟ เมื่อเกิดปรากฏเป็นดวงก็ร้อน เมื่อดับก็หายร้อนแต่ธาตุไฟนั้น หรือเกิดขึ้นและดับไป อันที่แท้ธาตุไฟคงมีอยู่ ความเกิดขึ้นหรือดับไปหาได้อยู่ที่ธาตุไฟนั้นไม่ หากแต่ดวงไฟที่มีอากาศร้อนนั่นเองเกิดขึ้นและดับไป เมื่อยังมีเชื้ออยู่ตราบใด ธาตุไฟที่มีแสงในตัวก็ปรากฏเป็นดวงอยู่ตราบนั้น ความร้อนซึ่งเป็นอาการของดวงไฟก็เกิดขึ้นตามดวงไฟนั้น ครั้นดวงไฟดับความร้อนก็หายไป กลับเป็นหายร้อน ความร้อนและหายร้อนจึงมีพร้อมในขณะเดียวกันไม่ได้ อุปมาข้อนี้ฉันใดแม้โทสะกับหายโทสะก็ฉันนั้น จะเกิดดับพร้อมกันหาได้ไม่ เมื่อเกิดก็เกิดที่จิตดวงนั่นแล เมื่อดับก็ดับที่จิตดวงนั้นเหมือนกัน หาใช่คนละดวงไม่ เพียงแต่ต่างขณะกัน เมื่ออารมณ์ใดเข้ามาผสม ก็ปรากฏให้เห็นตามอารมณ์นั้น เมื่ออารมณ์ไม่มี (อนารมมณํ) เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส นั่นคือ ที่สุดแห่งทุกข์ จิตไม่ต้องเป็นไปตามอารมณ์อีกต่อไป เรื่องยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงก็สิ้นสุดลงเพียงนี้
เพราะฉะนั้น ปัญญาตามเห็นจิตในจิตนั้น จึงอยู่ที่ตั้งสติกำหนดพิจารณาอารมณ์ ซึ่งเข้ามาผสมจิตมีราคะเป็นต้นนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาเห็นอารมณ์ของจิตแล้ว ก็จะเห็นจิตได้เอง เพราะอารมณ์กับจิตเนื่องถึงกันเหมือนเงากับรูปฉะนั้น และจิตจะบริสุทธิ์ได้ตามชั้นของปัญญา ดังพระพุทธภาษิตว่า ปญฺญาย วิสุชฌติ จะหมดจดพิเศษไว้ด้วยปัญญา คือเมื่อตั้งสติกำหนดพิจารณาอารมณ์ ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นนั้น เมื่ออารมณ์ใดเข้ามาผสม จิตก็รู้อารมณ์นั้น เมื่อเกิดขึ้นก็รู้ เมื่อตั้งอยู่ก็รู้ เมื่อดับไปก็รู้ ความรู้อันนั้นก็มีอยู่ที่จิต ทำจิตให้เป็นผู้รู้ รู้เพียงใดก็กำจัดความไม่รู้ได้เพียงนั้น เหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นในที่ใด ก็กำจัดมืดในที่นั้น มืดจะหมดไปได้เพียงไรก็สุดแต่กำลังแสงสว่างเป็นประมาณ ถ้ารู้จนกำจัดความมืดไม่รู้ได้หมดสิ้น ไม่กลับเป็นไม่รู้อีกต่อไป ความมืดก็หายไปหมด คงมีแต่แสงสว่างเต็มที่ เช่นนี้มีชื่อเป็นบาลีว่า พุทธะ คือท่านผู้รู้ ผู้เบิกบานเต็มที่ ถ้ารู้เองมีชื่อเป็นบาลีว่าสัมมาสัมพุทธะ ถ้ารู้จำเพาะตนเป็นบาลีว่า ปัจเจกพุทธะ ถ้ารู้ตามท่านผู้รู้มีชื่อเป็นบาลีว่า อนุพุทธะ ด้วยประการฉะนี้