พิจารณา ทานในทาน ทานในศีล ทานในภาวนา ศีลในทาน ศีลในศีล ศีลในภาวนา ภาวนาในทาน ภาวนาในศีล ภาวนาในภาวนา
พิจารณาธรรม วันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
เวลา ๑๘.๔๓ น.
ให้รู้จักทานใน ทานนอก ศีลใน ศีลนอก ภาวนาใน ภาวนานอก นอกนอก ในใน ระหว่างนอก ระหว่างใน กลางใน กลางนอก ต้องใช้สติปัญญา รู้ตามเห็นตามทุกระยะที่จิตเพ่งรู้ เพื่อละ เพื่อรู้ เพื่อละ วางใจไร้กังวลเบาสบาย สะอาดด้วย สงบด้วย วางอารมณ์ด้วย รู้ด้วย ละด้วย เพราะธรรมชาติเป็นอย่างนั้นเอง เมื่อรู้อารมณ์เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์ รู้แล้วละผ่านอารมณ์ จึงเป็นเช่นนี้เองที่เรียกว่าสภาวะธรรม
ทานในทาน
ทานในทาน หมายถึง จาคานุสติกรรมฐาน นึกถึงการบริจาคที่ใจสละให้ไม่เสียดาย เต็มใจให้ ให้ไปแล้วใจไม่ห่วงถึงวัตถุหรือสิ่งของหรือทรัพย์สมบัติที่ให้ ให้ใจนึกถึงอารมณ์ใจที่เป็นเหตุให้บริจาค ใจชนิดนี้แหละที่ตามระลึกเป็นทานในทาน ส่วนมากไม่มีใครคิดถึง ควรสั่งสมให้เป็นอนุสัยวาสนา ถึงคราวมีทุกข์ยากลำบากนานา ใจจะละอารมณ์ใจได้รวดเร็ว ไม่จมอยู่กับอารมณ์ทุกข์นาน
ทานในศีล การเสียสละอดใจบริจาคด้วยการงดเว้นละอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันเป็นโทษ ผิดศีล ผิดธรรมที่เป็นเหตุเชื่อมโยงก่อให้เกิดกรรมเวรภัย พยาบาท หรือเรียกว่าให้อภัยก็ได้ การให้ทานด้วยการให้อภัยทาน สั่งสมจนชำนาญดีแล้วเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ละอุปาทาน ความยึดถือได้รวดเร็วขึ้น ปัญญาชวนะวสี ความเป็นผู้ชำนาญในการสละอารมณ์ว่องไวขึ้น รู้เหตุผล ดีชั่ว บาปบุญ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ อุเบกขาวางเฉย เป็นตัวละโมหะ ความหลง ! ที่ทุกคนต้องการ
ทานในภาวนา บริจาคอารมณ์ที่เกิดกับใจทุกอย่าง ทำให้ได้ ทำให้จิตบริสุทธิ์ทุกอารมณ์เกิดขึ้น ไม่ถือมั่นในการบริจาควัตถุ ในการละอารมณ์ทั้ง ๒ นี้ ทำให้มีให้เป็นขึ้นมา ไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบใจ ก็บริจาคให้หมดไปทั้งวัตถุและอารมณ์ ให้ความรู้สึกในใจที่รู้อารมณ์หมดไป เรียกว่าบริจาคทานเป็นเหตุให้ล้างอารมณ์ ล้างความมีความเป็นเพื่อไม่มีไม่เป็นในจิตใจ จาคะสละอารมณ์ให้ถึงความบริสุทธิ์ใจ ให้โปร่งใจโล่งใจ เป็นการให้ทานสมบูรณ์แบบ ทั้งรูปทั้งนาม ทำให้มีขึ้นอยู่เสมอ เป็นทานในภาวนา
ศีลในทาน หมายถึง สีลานุสติกรรมฐาน นึกถึง งดเว้น ให้อภัยต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย จะไม่ทำศีลให้ด่างพร้อย มีใจละสละอยู่แล้ว การบริจาควัตถุ บริจาคอารมณ์ก็เป็นไปง่ายดาย สบาย มีการละบริสุทธิ์สมกับใจบริสุทธิ์จึงมีการละอยู่เสมอ มีการบริจาคอยู่เสมอทั้งวัตถุและอารมณ์ จึงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เสมอ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลธรรมอันดี เพราะมีการละเว้นให้อภัยเป็นปกติ
ศีลในศีล หมายถึงละในการละ แม้สิ่งที่ละจะยิ่งใหญ่สักเพียงไหน พร้อมทั้งชีวิตและอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่ในจิตใจ งดเว้นตัดอารมณ์ ตัดใจ อันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาศีลให้อยู่เหนือชีวิตจิตใจ ความรู้สึกของใจที่มีอารมณ์เกิดขึ้น ให้มีจิตเป็นปกติ บริสุทธิ์สะอาดให้สมกับเป็นผู้งดเว้นได้จริง สละแล้วซึ่งอารมณ์ของโลกทั้งมวล ไม่ตกอยู่ในอำนาจของโลกธรรม ๘ ที่มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสุขก็เสื่อมสุข มีสรรเสริญก็เสื่อมสรรเสริญ มีนินทา เป็นผู้มีศีล แล้วรู้ความจริงของโลกซึ่งมีสภาพหรือสภาวะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดกัปตลอดกัลป์หมุนเวียนเปลี่ยนไปเช่นนี้ ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งบุญทั้งบาป ทั้งมีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ละไปด้วยศีล
อุเบกขาวางเฉย ละอุปาทานความยึดถือทั้งปวง ละไปหมดไปซึ่งกรรมเวรภัยทั้งหลายทั้งปวงจึงสงบระงับ มีสมาธิตั้งมั่น มีจิตใจแน่วแน่จึงเป็นผู้รู้ ผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง อยู่ในโลกด้วยความเป็นธรรมชาติ ธรรมดาจริงๆ
ศีลในภาวนา หมายถึง การละ จนมีละเป็นอารมณ์หนึ่งเดียว ในอารมณ์ เรียกว่าภาวนา มีการละเป็นภาวนา ซึ่งมีศีลละเป็นหนึ่ง เป็นหัวหน้า เป็นหัวใจในการปฏิบัติ มีละเว้นเป็นหนึ่งเป็นที่สุด มีภาวนาละเป็นอารมณ์จนเกิดวสีมีความชำนาญในการละ เป็นธรรมภาวนา เป็นศีลภาวนา เป็นศิลปะภาวนาให้มีให้เป็นขึ้นมาจนเป็นเองด้วยความเคยชิน เห็นเป็นธรรมดา ได้ยินเป็นธรรมดา ได้ทราบเป็นธรรมดา ได้รู้สึกเป็นธรรม รู้รสชาติอารมณ์ทั้งหมดเป็นธรรมดา ไม่มีอารมณ์เป็นพิเศษเป็นธรรมดาไม่สำคัญ จะมีจะเป็นจะเสื่อมจะสูญอย่างไรไม่เป็นประมาณ มีความงดเว้น อดกลั้นตั้งใจ มุ่งมั่นเป็นอุดมการณ์ประจำตลอดเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำคืน ดึกดื่น ทั้งวัน ทั้งคืน ทั้งเดือน ทั้งปี ปฏิบัติศีลภาวนาไป งดเว้นละไปอย่างนี้ จึงเรียกว่ารักษาศีลเป็น ภาวนาเป็น เพราะมีศีลรักษาเป็นเหตุ ภาวนาคือการกระทำให้บังเกิดมรรค ผล นิพพาน เป็นผลที่สุดจึงเรียกว่า ศีลในภาวนา
ภาวนาในทาน หมายถึง ผู้มีความตั้งใจ มีการให้เป็นปกติ วันไหนไม่มีอะไรให้ทานรู้สึกไม่สบายใจไปทั้งวัน เหมือนมีชีวิตอยู่เพื่อการให้โดยเฉพาะ ยืน เดิน นั่ง นอน คิดถึงแต่การจัด การทำ เตรียมใจ เตรียมของเพื่อให้เป็นทาน ใครปรารถนาแล้วต้องได้ไม่ว่าจะมีสิ่งใด เป็นดังเรื่องพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ นั่งคิดคำนึงอยู่ว่า วัตถุและทรัพย์สินภายนอกเป็นอันมากเราก็ได้ให้แล้ว ถ้ามีผู้ปรารถนาเอาอวัยวะภายใน มีดวงตา หรือดวงหทัยก็ปรารถนาควักให้หรือผ่าอกให้เป็นทานได้ เพราะพระองค์ทรงปรารถนาพระโพธิญาณ ปรารถนาเพื่อเป็นประโยชน์กับชาวโลก จึงทรงคิดถึงการให้อยู่เสมอ ทั้งทรัพย์ศฤงคาร บ้านเมือง พระมเหสี พระโอรส พระธิดา ก็ทรงสละออกให้เป็นทาน ผู้มีภาวนาในทานอยู่อย่างนี้ก็อาจให้สำเร็จปรารถนาเป็นพระสัพพัญญูได้ เพราะจิตไม่มีอะไรในจิต ไม่มีจิตเป็นอย่างอื่น ตั้งใจสงเคราะห์ อนุเคราะห์ประชากรทั้งโลกให้มีความสุขกาย สุขใจ สบายใจ ไม่คำนึงถึงการเป็นการตาย อันตรายทุกข์ยากหรือความลำบากที่ตนจะได้รับ ขอมีการให้อย่างเดียว ขอเป็นผู้ให้ไม่ขอเป็นผู้รับ จึงตั้งมั่นภาวนาในทานอยู่อย่างยอดเยี่ยมเย็นใจ
ภาวนาในศีล ตั้งใจงดเว้นไม่ทำชั่ว ทำบาป ในทางกาย วาจา ไม่เบียดเบียนมนุษย์สัตว์ให้เดือดร้อน เพราะการทำผิดศีลของตน เป็นผู้มีใจอันรู้ทุกข์โทษเวรภัยอันตรายทั้งหลายอันจะพึงบังเกิดมี เห็นประโยชน์ของการไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นผู้สงบกายวาจาเป็นปกติ ได้รับรู้รสของความสงบแล้ว ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา มานะทิฏฐิ จึงซาบซึ้งคุณค่าของศีล มีความละงดเว้นเป็นหัวใจ ของการปฏิบัติ ไม่จำกัดศีลชนิดไหน จะเป็นศีล ๕-๘-๑๐-๒๒๗ มีคุณภาพของการละเว้นเหมือนกัน ไม่เลือกกาล สถานที่หรือทิศใดๆ ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะไหน ต่างต้องมีใจสำรวม สังวรระวังใจให้อยู่ในวินัยระเบียบของศีลนั้น จึงเป็นผู้มีนิสัย อัธยาศัยดีงาม มีความสงบงดงามด้วยศีล ทำให้มีให้เกิดให้เป็นปกติได้ทุกเวลา ภาวนาละเว้นเป็นประจำ เป็นศีล เป็นความตั้งใจให้มีศีลเป็นภาวนาในศีล
ภาวนาในภาวนา ผู้อบรมใจ บ่มนิสัยรักความสงบ ทำให้มีให้เป็นได้แล้ว ทำให้เกิดยิ่งขึ้นทวีคูณยิ่งใหญ่ เป็นผู้ฉลาดในธรรม ในการปฏิบัติธรรม เป็นผู้ฉลาดรู้อารมณ์ พิจารณาอารมณ์ เลือกอารมณ์ สละอารมณ์ ขยะอารมณ์ มะเร็งอารมณ์ก็มารู้ทาน การให้การสละ มารู้ศีล การละการเว้น การบรรเทา การอดกลั้น การให้อภัย การมีขันติ อดทนไม่ทำบาป ก่อให้เกิดปัญญามีพลังและความสามารถที่ผ่านการปฏิบัติมาแล้ว อบรมบ่มใจแล้ว มีอานุภาพเด็ดขาดอดทนพากเพียร เข้มแข็งด้วยอานุภาพภาวนาให้มีให้เป็นขึ้น ตั้งใจภาวนาให้มากยิ่งขึ้นทุกอิริยาบถ
ภาวนาภายในภาวนา พิจารณาภายนอกวัตถุ หรือนามธรรมชนิดใดชนิดหนึ่ง โอปนยิโกน้อมเข้ามาหรือยกออกไปเทียบเป็นการทำความเห็นให้ตรง รู้เห็นเหมือนกันทั้งภายในภายนอกไม่แตกต่างอย่างใด ได้ความเห็นเป็นอย่างเดียวกันจึงไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ทำให้หายมานะทิฏฐิ อวิชชา ดับโศกโรคภัย ตัณหา หมดเวรสิ้นภัยอันตราย กำจัดทุกข์ดับโศกสำเร็จยอดเยี่ยม ทั้งเหตุทั้งผล ภายในภายนอก ทั้งบวกทั้งลบ สัมมาทิฏฐิภาวนาหลุดพ้นอันตรายกิเลสตัณหา
อธิษฐานจิตภาวนาทุกเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ คืน วัน เดือน ปี ตลอดไปไม่ทอดธุระ ภาวนาให้มีทานยิ่งขึ้นไป ภาวนารักษาศีลให้เป็นดังชีวิตพร้อมจิตใจ ภาวนาในภาวนาด้วยชำนาญเคยชินเป็นเองอัตโนมัติ ไม่ต้องตั้งใจ เพราะเป็นอารมณ์ที่เกิดกับใจด้วยใจที่ไม่กังวลใจ เป็นภาวนาในใจ เป็นอารมณ์ของใจ ใจที่เกิดรู้ใจ รู้ปัจจุบันของใจจึงได้รู้ว่า ภาวนาในภาวนาสำเร็จกิจของภาวนาด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้