จิต เอาสติไปกำหนดไว้ที่จิต ดักจิต ดูจิต ดูอารมณ์จิต ดูการทำงานของจิต เพราะจิตเป็นคลังที่เก็บอารมณ์ใหญ่ รวมอารมณ์ดี อารมณ์ร้าย  อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลงไว้มาก จึงมีความคิดความนึกมาก ปรุงแต่งอารมณ์แก้ไขอารมณ์ได้ก็ต้องเอาสติไปกั้นอารมณ์ เอาสติปรุงแต่งแก้ไขอารมณ์ มิฉะนั้นจิตย่อมเป็นไปพล่าน ตามอารมณ์ดี ตามอารมณ์ร้าย ตามอารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง ยิ่งมีกิเลส รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ มากระทบสัมผัสด้วยแล้ว จิตก็ย่อมกำเริบรุนแรง เกิดอารมณ์รัก ใคร่ โลภ โกรธ หลงรุนแรง ฉะนั้นต้องเอาสติสัมปชัญญะเป็นกันชนเครื่องกั้นเครื่องป้องกันคลายความรุนแรงของอารมณ์ อารมณ์ใดมากระทบสติสัมปชัญญะก่อนก็จะผ่อนคลาย ไม่รุนแรง ผ่านไปกระทบจิตเพียงรู้สึกให้จิตทำงานตามเหตุตามผล เก็บเอาสิ่งสำคัญมีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ทิ้งไป สติสัมปชัญญะเหมือนเครื่องกรองอันวิเศษกลั่นเอาธรรม คือ ความบริสุทธิ์

               อารมณ์ใดมากระทบ ประทับจิตรุนแรงหรือไม่รุนแรง จิตจะหวั่นไหวหรือไม่หวั่นไหว ไหวน้อย ไหวมาก ขึ้นอยู่ที่สติสัมปชัญญะ เพราะเป็นตัวควบคุมอารมณ์ เพราะฉะนั้นต้องฝึกสติสัมปชัญญะให้อยู่รู้อารมณ์ทุกประเภท จะหยาบ ปานกลาง ประณีต อาศัยมีสติสัมปชัญญะควบคุมจิตควบคุมอารมณ์ทั้งเก่าที่มีอยู่แล้ว ทั้งใหม่ที่มากระทบ สติสัมปชัญญะคอยจับอารมณ์ธรรม อารมณ์วินัย เอาไว้อย่างเดียวเพื่อเป็นพลังอุดหนุน ต่อสู้กับอารมณ์กิเลสตัณหาที่มารุมล้อมจิต เอาจิตไปเป็นทาสอารมณ์กิเลสตัณหา

 

                จิตปกติมีความไวต่ออารมณ์ อารมณ์ดีจิตก็ชอบก็สงบ อารมณ์ไม่ดีจิตก็ไม่ชอบไม่สงบ อารมณ์ดีชอบแต่ไม่ได้ตามใจปรารถนาจิตก็โกรธ เคืองขุ่น แค้น พยาบาท มีความร้อนจิต ไม่สงบ จิตจึงเต็มไปด้วยความรัก ความชังความโลภ ความโกรธ ความหลง มากไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ  มานะ ทิฏฐิ จิตชอบไหลไปตามอารมณ์  ติดอยู่ในอารมณ์ ไม่รู้จักปล่อยวางอารมณ์ เพราะไม่รู้จักธรรมวินัยของพระอริยเจ้า จิตของปุถุชนมนุษย์สัตว์ก็เป็นอย่างนี้  การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีสติอยู่ที่จิตก็เพื่อกันอารมณ์ รักษาอารมณ์ รู้จักอารมณ์ แล้วให้ปล่อยวางอารมณ์ จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์ทุกอย่าง  อารมณ์ใดมีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่ อารมณ์ใดไม่มีก็รู้ไม่มี ทั้งมีและไม่มีก็ทรงสอนไม่ให้ยึดถือ เพราะมันเกิดขึ้นแล้วดับไปตามอารมณ์ ๕ อย่างนั้น  จะเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ก็ตาม  ที่เป็นธรรมารมณ์ติดใจอยู่นั้นเป็นธรรมดา ธรรมชาติ อาศัยสัญญาอุปทาน ตัณหาเกี่ยวข้องไว้จึงไม่หลุดไป หายไป คลายไป ดับไป เพราะตัวรู้ยังมีอยู่ รู้สัญญาอุปาทานแล้ว ดับตัณหา ดับอารมณ์ เมื่อไม่มีอารมณ์รู้ก็ดับหาย  สงบถึงฐานสมาธิ ไม่รับรู้รับทราบอารมณ์ ถอนขึ้นมาก็กำหนดจิตไม่มีอะไรในจิต จิตว่างก็พิจารณาความว่างของจิต จิตก็ดับรวมรู้ลงไป สัญญา เวทนา ตัณหาก็ดับไป พร้อมกับจิตรวมใหญ่ กินเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวันกว่าถอนขึ้นมา ถอนขึ้นมาแล้วจิตก็ยิ่งละเอียด ผ่องใส ประณีต มีสติสัมปชัญญะว่องไว รวดเร็ว รู้เหตุผลเหตุการณ์ได้ไม่สับสน จิตไม่วุ่นวายไม่รีบร้อนและไม่เฉื่อยชา ทันต่ออารมณ์ ทันต่อเหตุการณ์ รู้ความเป็นไปของธรรมชาติหรือธรรมดา จิตไม่เดือดร้อน ไม่กังวล ละอุปทาน ละอารมณ์ที่เคยยึดแน่นเหนียวแข็งแรงนั้นได้ สลัดอารมณ์ ทิ้งอารมณ์ ว่างอารมณ์ ปล่อยอารมณ์ ดับอารมณ์ จิตจึงเป็นจิต


                จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต  จิตไม่มีอยู่ในอารมณ์ อารมณ์ไม่มีอยู่ในจิต แต่จิตก็ไม่ต่างอารมณ์ อารมณ์ก็ไม่ต่างจิต รวมอารมณ์ รวมจิตก็เป็นธรรมจึงเรียกธรรมารมรณ์  ธรรมที่ประจักษ์กับจิตเรียกธัมมจักรจิต จิตที่หมุนเป็นธรรม ปรากฏทุกข์ สมุทัย  นิโรธ มรรค รอบหนึ่ง กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำให้แจ้งนิโรธ มรรคควรเจริญ รอบหนึ่ง ทุกขาควรกำหนดรู้ รู้ได้แล้ว สมุทัยควรละ ละได้แล้ว นิโรธควรทำให้แจ้ง ได้แจ้งแล้ว มรรคควรเจริญ ได้เจริญแล้ว  มีอาการ ๓ ปธิวัฏ๑๒ ๓รอบ  ๓×๔ = ๑๒ จิตนี้จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะไม่ข้องสัตว์ ไม่ข้องบุคคล  จิตเป็นธรรมชาติรู้ แต่อยู่เหนือธรรมชาติ เพราะธรรมชาติปรุงแต่งจิตไม่ได้ แต่จิตปรุงแต่งธรรมชาติได้ จิตปรุงแต่งจิตได้ จิตจึงว่างจากธรรมชาติได้ จิตรู้จิตได้เมื่อใด ก็พ้นจากการเข้าไปยึดปรุงแต่งธรรมชาติ เมื่อนั้นธรรมชาติย่อมเปลี่ยนไปตามฤดูกาล สังขารที่จิตปล่อยวาง ก็เป็นไปตามกรรมอายุ เรียกว่า จิตปลงสังขาร

                จิตมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องกัน หรือกั้นอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมของจิต รู้จิต รู้อารมณ์ ที่จิตมีความยินดียินร้าย เพราะความที่จิตคลุกเคล้ากับอารมณ์จนเคยชินแล้ว ท่านจึงว่าจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่ทั้งนั้น เพราะจิตเป็นจิต จิตอาศัยธรรมชาติ ธรรมดาอยู่ จิตจึงปรุงแต่งธรรมชาติ  ธรรมดาให้เข้ากับสังขารร่างกาย พอเป็นอยู่ได้รู้จักกาลเวลา รู้สมัยที่จะปล่อยกาย ปล่อยสังขารก็ไม่ฝืนธรรมดาหรือธรรมชาติ ปล่อยไปตามเหตุปัจจัย อาศัยกรรมดีอุปถัมภ์ค้ำอยู่


                ธรรมชาตินั้นไม่มีชีวิตจิตใจ แต่จิตใจอาศัยธรรมชาติ จึงหลงธรรมชาติ เอาธรรมชาติเป็นภพที่อยู่อาศัย ผู้ไม่เคยฝึกฝนจิตให้รู้ธรรมชาติธรรมดาที่เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไม่เคยสงบจิตให้ออกจากธรรมชาติเลย  จึงวุ่นวายไปกับธรรมชาติ  เมื่อรู้ว่าธรรมชาติเป็นธรรมชาติธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษใหม่เลย  จิตเป็นจิตที่ไม่หลงธรรมชาติ จิตไม่หลงจิต หลงธรรมชาติ ก็พ้นจิต  พ้นธรรมชาติ  พ้นธรรมดาเท่านั้น”

Share