สติปัฏฐาน ๔ พิจารณาเป็นแนวปฏิบัติ
บันทึกธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๓
เวลา ๑๕.๔๐ น.
สติปัฏฐาน ๔ ฐานะที่ตั้งรองรับสติมี ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
กาย สติ ระลึกได้ มีกายเป็นอารมณ์ ระลึกถึงกาย ตั้งแต่กายยังเป็นกลละ น้ำมันหยดเดียว เป็นจิตที่เข้ามาอาศัย ปฏิสนธิเมื่อจิตเข้ามาอาศัยน้ำมันหยดเดียว แล้วทำน้ำมันหยดเดียวให้เจริญวิวัฒนาการขึ้นมา จนมีอาการ ๓๒ ครบ และอยู่ในครรภ์จนครบกำหนดคลอด เมื่อออกจากครรภ์ก็ต้องอาศัยมารดาบิดาอุปถัมภ์ เลี้ยงดู ป้อนข้าว ป้อนน้ำให้ดื่ม ให้อาบน้ำ ชำระอุจจาระปัสสาวะ ตลอดจนเดินได้ พูดได้ รู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักร้อน รู้จักหนาว รู้จักหิว รู้จักที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ มารดาบิดา จึงค่อยมีความสุขได้บ้างกว่าจะเจริญเติบโตขึ้นมา มารดาบิดาได้รับทุกข์โทษต่างๆ เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาต้องอดอาหารที่ชอบ เป็นต้นว่า เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด และอาหารที่ร้อนๆ และน้ำแข็งที่เย็น เวลาจะลุกจะนั่ง จะเดิน จะนอน พักผ่อนอิริยาบถ ก็คอยลุก คอยนั่ง คอยเดิน คอยนอน กลัวจะกระทบกระทั่งบุตรในครรภ์จะเป็นอันตราย เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ประคับประคอง กกกอดกล่อมเห่ให้ลูกนอนเปลเป็นสุขสบาย เมื่อลูกร้องหิวนมหรือถ่ายอุจจาระปัสสาวะ มีร่างกายเปื้อนเปรอะก็ชำระอาบน้ำให้ ล้างร่างกายให้สะอาด ให้ดื่มนมตามต้องการ ต้องละกิจการงานต่างๆ แม้จะกิน จะนอน จะพักผ่อนก็ตาม จะละมาด้วยกังวลห่วงใยในลูกน้อย และปลอบขวัญให้เป็นสุขสบาย
เมื่อรู้เรื่องบ้างแล้วพ่อแม่ก็พูดสอนภาษาให้ พ่อแม่ชาติใด ภาษาใดก็สอนภาษาชาตินั้นให้ เมื่อลูกเจ็บไข้ได้ป่วย พ่อแม่ก็เป็นทุกข์ในการพยาบาลรักษาหาหยูกยาเอามาพ่นเอามาทา เอามาให้ลูกกิน ต้องอดหลับอดนอนพักผ่อนน้อย ร่างกายก็ผอมซูบซีดเป็นทุกข์โศกกังวล กลัวบุตรสุดที่รักจะไม่หาย กลัวลูกสุดที่รักจะเป็นอันตราย กลัวลูกสุดที่รักจะตายหรือจากไป เมื่อลูกร้องไห้ด้วยเวทนาน้ำตาพ่อแม่ก็หลั่งไหล ด้วยความรักลูกยอมอดยอมทนเพื่อลูก เลี้ยงลูกมาด้วยความเหนื่อยยากแสนลำบากเหลือทน ถ้าพ่อแม่ยากจนข้นแค้นลำบาก หาเลี้ยงปากท้องได้ด้วยยาก อดเข้าก็ต้องทำปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท หลอกลวงฉ้อโกงเขาบ้าง ต้องทนแดด ทนฝน ทนหนาว ทนสร้างกรรมทำชั่วมาเพื่อเลี้ยงลูกก็มี เพราะเหตุนี้ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จึงยกย่องเชิดชูมารดา บิดาว่าเป็นพรหมของบุตรธิดา เป็นพระอรหันต์ของบุตรธิดา เป็นเนื้อนาบุญของลูก เป็นเทวดาที่บุตรธิดาต้องกราบไหว้บูชาเป็นนิจ ควรบูชาด้วยข้าวปลาอาหาร ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่อยู่อาศัยที่เป็นสุขสบาย ยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ในเวลาท่านอาพาธต้องเอาใจใส่รักษาพยาบาลท่านจนถึงที่สุด และเงินทองให้ท่านไว้ใช้บ้างตามสมควร และควรถนอมเอาใจท่าน ตามใจท่าน รับใช้ท่านอย่างเต็มอกเต็มใจ อย่าขึงเครียดก้าวร้าวท่าน อย่าเอาแต่ใจตนเอง เดี๋ยวท่านจะน้อยใจว่าเป็นลูกอกตัญญูไม่รู้จักคุณของพ่อแม่ ท่านลำบากเพราะเรามามากแล้วเราโตแล้วอย่าทำลายน้ำใจท่าน เห็นใจตามใจท่านบ้าง เพราะท่านปรารถนาเลี้ยงลูกเพื่อได้ดี หวังพึ่งยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือยามชราหมดกำลังที่จะช่วยตนเอง ต้องพึ่งพาอาศัยลูก ถ้าลูกปฏิเสธเสียแล้วก็หมดหวังเป็นทุกข์ น้อยใจในวาสนาของตัวมีลูกพึ่งไม่ได้ ได้แต่ดีใจ พอใจ อนุโมทนาในลูกที่ดีของคนอื่นเท่านั้น
เราต้องตั้งจิตเจตนาว่าจะต้องเป็นลูกที่ดีของแม่พ่อ จะเลี้ยงดูเอาใจใส่ให้ท่านเป็นสุข เมื่อท่านเจ็บไข้อาพาธพยาบาลรักษา เมื่อชราก็เลี้ยงดู ยามปกติเราต้องอยู่ในโอวาททำตาม เมื่อท่านแนะนำสั่งสอนท่านจึงจะสบายใจ ข้อสำคัญอย่าได้ทะเลาะวิวาทกับญาติพี่น้องทุกคนเพราะจะทำให้ท่านลำบากใจ มีอาหารดีๆ มีผ้านุ่งผ้าห่มดีๆ ที่อยู่ที่อาศัยดีๆ ยารักษาโรคดีๆ เอาให้ท่านหาให้ท่าน ให้ท่านกินก่อนใช้ก่อน อาศัยอยู่อย่างสุขสบาย เหลือแล้วเราค่อยกินค่อยใช้ อย่าบ่น อย่าว่า อย่าด่า เหน็บแนมท่าน ทำอย่างนี้เป็นการบูชาท่าน เป็นการเคารพท่าน ควรยำเกรงท่านให้มาก ควรทำความสงบใจ ข่มใจ เมื่อเราผิดพลาดท่านได้ดุด่า สั่งสอน อย่าเถียงท่าน เพราะจะทำให้ท่านเจ็บช้ำน้ำใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะเราเป็นต้นเหตุ ท่านจะคิดว่าเราสู้อุตส่าห์อดทน เลี้ยงมาแต่เล็กแต่น้อยด้วยความเหนื่อยยาก ต้องอดอยาก อดหลับอดนอน ต้องกล่อมเห่ให้ลูกเป็นสุขนอนหลับสบาย บางครั้งยอมอดหวังให้ลูกอิ่ม คิดแล้วท่านคงจะน้อยใจ เจ็บใจมากเมื่อลูกทรพี อกตัญญู โตแล้วอบรมสั่งสอนไม่ได้ ถ้าท่านไม่มีเมตตาฆ่าเสียแต่เล็กๆ ก็คงได้ เมื่อออกมาแล้วไม่เลี้ยงดู ปล่อยให้อดอยาก ตากแดด ตากลม ตากน้ำฝน ตากน้ำค้าง เด็กเล็กๆ อย่างนั้นที่ไหนจะทนได้ตายไม่เหลือ
เพราะท่านมีเมตตาความรักใคร่ มีกรุณาความสงสาร มีมุทิตาความพลอยยินดี ท่านสบายใจเมื่อลูกไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ เลี้ยงง่ายโตวันโตคืน ท่านมีอุเบกขาความวางเฉย เมื่อลูกรักษาตน เลี้ยงตน ตั้งตนได้ มีความเป็นอยู่สุขสะดวกสบายไม่เดือดร้อน มีความสมบูรณ์ด้วยอาหาร ผ้านุ่งผ้าห่ม ที่อยู่อาศัย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีเครื่องอุปโภคบริโภคมาก สมบูรณ์ด้วยยารักษาโรคนานาชนิด จิตของท่านจึงวางเป็นกลางวางใจ อุ่นใจ เบาใจ ในความสามารถของลูก อิ่มใจ ภูมิใจ ในวาสนาของตน ที่อุตส่าห์เลี้ยงลูกจนได้ดี และได้พึ่งเต็มที่
นี่แหละกิจที่พิจารณากาย เมื่อพิจารณากายเห็นกายต้องอาศัยมารดาบิดาเลี้ยงดูอุปถัมภ์ จึงได้เจริญวัยขึ้น และเกิดความรู้สึกที่ดีงาม จะมีความรักเคารพในมารดาบิดา ใคร่จะได้ทดแทนพระคุณท่าน เห็นพระคุณของมารดาบิดามีพระคุณแก่บุตรธิดามาก ก่อให้เกิดความเคารพยำเกรง มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่อมารดาบิดาของผู้อื่น สัตว์อื่น มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น สัตว์อื่นทั่วไป เลิกคิดเบียดเบียน ข่มเหงรังแก ทำอันตรายชีวิตและอวัยวะ ตลอดถึงความเป็นอยู่ ไม่ประทุษร้ายความสงบของผู้ใด สัตว์ใดให้เดือดร้อน รำคาญ ไม่ทำลายหัวใจในความรักของพ่อแม่ตนและคนอื่น สัตว์อื่น เราเคารพมารดาบิดาบูชากราบไหว้อย่างไร เราจะต้องมีน้ำใจ เอ็นดูเผื่อแผ่มีเมตตาและความปรารถนาดี ต่อผู้เป็นมารดาบิดาของผู้อื่น สัตว์อื่นดุจเช่นเดียวกัน แม้ลูกของผู้อื่นสัตว์อื่นก็มิปรารถนาให้ให้ลำบาก มีจิตตั้งประกอบด้วยเมตตา ความรักใคร่ในมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายโดยความเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายโดยที่สุด แม้ต้นไม้ที่เราอาศัยดอก ผล และร่มเงา บังแดดในเวลาร้อน ได้อาศัยบังลม บังฝน ในเวลามีลมมีฝน มีแดดในฤดูร้อน หรือเป็นที่พักพึ่งพิงของสัตว์ต่างๆ เห็นคุณค่ามีประโยชน์ต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่ควรทำอันตรายทำลายเสียเพราะกว่าจะเจริญเติบโตมีร่มใบให้อาศัยพึ่งพิงนั้นนานปีนัก แม้ต้นเล็กก็ไม่ตัดทำลาย เพราะมันขึ้นได้ยาก เวลาตัดหรือทำลายเพียงครู่เดียวเท่านั้น
ต้นไม้ใดเป็นที่พึ่งอาศัยพักพิงร่มเงาบังแดดในเวลาร้อน และอาศัยหลบอันตราย บังลม บังฝน และเป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย มีนกเป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติห้ามแก่พระภิกษุทั้งหลาย มิให้ทำลายตัดต้นไม้นั้นถึงแม้ต้นไม้นั้นไม่มีประโยชน์แก่ตน ก็คงเป็นประโยชน์กับผู้อื่นสัตว์อื่น อันสัตว์เล็กสัตว์น้อยย่อมอยู่อาศัยตามสบาย ชีวิตสัตว์ทั้งหลายมีความเป็นอยู่ง่ายในเรื่องอาหารการกิน ไม่มีการปรุงแต่งพิเศษ กินอยู่ตามแบบธรรมชาติ ธรรมดา กินตามมีตามได้ ที่อยู่อาศัยก็อยู่ใครอยู่มัน มีความสุขสบายอย่างสัตว์มีอิสระเสรี ไม่มีการจองจำ สัตว์นั้นก็มีความสุขได้ สัตว์ทั้งหลายมีเมตตารักใคร่กันดี มีหัวหน้าหรือพญาเป็นจ่าฝูง อยู่กันเป็นหมู่เป็นพวก หมู่นก หมู่เนื้อ เป็นต้น เราจะเห็นความพร้อมเพรียง มีความสามัคคีหากินเป็นเวลา กลับเป็นเวลา มีความรักใคร่หมู่คณะเช่นเดียวกับหมู่มนุษย์ ที่มีดีมีร้าย สัตว์ดีสัตว์ร้าย ที่มนุษย์ชอบและก็กลัว
มนุษย์เราทุกชีวิต ต้องการมีชีวิตเป็นอยู่ดี มีสามีภรรยา บุตรธิดาที่ดี มีคนงาน คนรับใช้ที่ดี มีบริวารบ่าวไพร่ที่ดี มีอาหารที่ดีๆ มีผ้านุ่งผ้าห่มที่ดีๆ มีที่อยู่ที่อาศัยดีๆ มียารักษาโรคยามเจ็บไข้ที่ดีๆ มีสัตว์เลี้ยงที่ดีๆ มีของใช้ยานพาหนะที่ดีๆ มีมารดาบิดา มีญาติสนิทมิตรสหายที่ดีๆ ที่ไม่ดีไม่ต้องการ สัตว์ทุกประเภทมีความต้องการดีเหมือนกับมนุษย์ ในเรื่องปัจจัย ๔ มนุษย์มีความรู้มีปัญญามากกว่าสัตว์ เช่นต้องการไปสวรรค์ สำเร็จมรรคผล นิพพาน ส่วนสัตว์ต้องการความมีอิสระเสรี ความอยู่ดีกินดี ไม่ต้องการความเบียดเบียนจากมนุษย์และสัตว์ด้วยกันเป็นอย่างสูง
มนุษย์มีสติปัญญา หาเหตุผล แก้อุปสรรคได้ดีกว่าสัตว์ เช่นปลูกพืช ปรุงอาหาร สร้างบ้านเรือน รู้จักชนะธรรมชาติ อาศัยเครื่องทุ่นแรงจักรกลต่างๆ แต่สัตว์มีกำลังเป็นเครื่องพยายามหมดกำลังก็ยอม มีความเป็นอยู่อาศัยป่าไม้ธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติก็ชื่อว่าทำลายที่อยู่ที่อาศัยของสัตว์ป่าไปหมด สัตว์ก็ตายหมด หมดป่าก็หมดสัตว์ หมดธรรมชาติที่ดี ที่สำคัญหมดพระธุดงค์กรรมฐานที่ดีๆ สัตว์ซึ่งมีสุข มีทุกข์ มีอุเบกขาอย่างสัตว์ หาได้มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอย่างมนุษย์ไม่ ฉะนั้นมนุษย์ที่ดีต้องให้อภัยทานสัตว์ มีศีล มีสัจจะ ไม่เบียดเบียน พยาบาทปองร้ายในมนุษย์ด้วยกันและสัตว์ทั้งหลาย จึงเป็นมนุษย์ประเสริฐ มนุษย์ที่ประเสริฐสุดคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงสอนให้มนุษย์ทั้งหลายใช้สติปัญญาหาเหตุผล ใช้สติปัญญาพิจารณากาย ให้เห็นภายในกาย อันประกอบเป็นอาการ ๓๒ ต้องเน่าเปื่อย ผุพัง โสโครก ปฏิกูลยิ่งนัก เป็นอสุภะไม่งาม เป็นที่อยู่ที่อาศัยของหมู่หนอน ไส้เดือน
กายนี้อาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิด เจริญเติบโตด้วยข้าวสุก ขนมสด จึงได้มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์แบบมนุษย์ขึ้นมา กายนี้ประกอบด้วยธาตุ ๖ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และจิตวิญญาณ จึงเจริญเติบโตมาได้ทุกวันนี้ และต้องมีอาหารเป็นพลังเชื้อเครื่องช่วยให้ชีวิตยืนยาวต่อไปได้ “กายนี้เกิดมาจากกาม กายนี้เป็นเชื้อสายของกาม กายนี้มีกามเป็นที่พึ่งอาศัย จะเป็นกามดีหรือกามชั่ว กายนี้จะต้องรับผลคือเป็นทายาทของกามสืบต่อไป” “กามฺ โยนิ กามฺ พนฺธุ กามฺปฏิสารณา ยํกามฺ มํกริสฺ สามิ กลฺ ยาณํวาปาปกํวา ตสฺ สทายาโทภวิสามิ” จะเป็นกายมนุษย์ก็ตาม จะเป็นกายสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ต้องอาศัยพ่อแม่มีกามเกิดขึ้น ร่วมประเวณีกัน และมีจิตวิญญาณมาปฏิสนธิ ในกลละ น้ำมันหยดเดียว แล้วเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนครบทศมาส ๑๐ เดือนเป็นปกติ ที่น้อยกว่า ๑๐ เดือนก็มี ที่มากกว่าก็มีบ้าง
กายนี้ประกอบด้วยอาการ ๓๒ มีเลือด เนื้อ เอ็นกระดูก ชีวิต ไออุ่น วิญญาณ อายุ เป็นต้น จึงจะวิวัฒนาการเจริญเติบโต ถ้าไม่พร้อมมีกรรม มีเวรมาตัดรอนก็หมดสิ้นกันเท่านั้น กายนี้เกิดขึ้นด้วยความพยายามของพ่อแม่ ที่ต้องทนทุกข์ยากลำบากนานัปการ กายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ มีมูตรคูถ เป็นต้น
กายนี้เป็นที่ตั้งแห่งความยินดี ยินร้าย กายนี้เป็นที่ตั้งแห่งราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภะ โทสะ โมหะ กายนี้เกิดขึ้นมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ตั้งอยู่ได้ไม่นานต้องแตกทำลายไปเป็นที่สุด กายนี้สักเรียกกันว่ากาย สักว่าเป็นกายในเมื่อยังเป็นอยู่เท่านั้น พอหมดลมเขาก็ว่าเป็นศพบ้าง ผีตายบ้าง คนตายสัตว์ตาย เน่าเหม็นเป็นอสุภะบ้าง ซากอสุภะบ้าง เมื่อกายนี้ถูกฝัง ถูกเผา มีแต่กระดูกและขี้เถ้า เขาก็ไม่เรียกว่าเป็นกาย กายนี้หนออนิจจัง กายนี้หนอเต็มไปด้วยทุกขํ กายนี้หนอเป็นไปเพื่ออนัตตาเป็นที่สุด
เมื่อรู้ธรรมชาติ ธรรมดาของกายสังขารแล้ว ควรมีสติพิจารณากายนี้ให้มาก ควรสลดสังเวชกายนี้ให้มาก อย่าให้ความยินดียินร้ายของกายครอบงำจิตใจ และไม่ควรตกแต่งกายนี้จนเลยพอดี คนหลงกายมักตกแต่งเครื่องประดับกายด้วยรัตนะต่างๆ ตกแต่งใบหน้าพอกแป้งเขียนคิ้ว ทาปาก ทาเล็บ ย้อมผม เซ็ทผม ตกแต่งทรวดทรงด้วยวิธีบริหารกาย เห็นคนงามตกแต่งเครื่องประดับอย่างนี้ให้รีบนึกถึงสภาพอสุภะ ไม่งาม เน่าเหม็น อยู่ในโลงทอง ที่เขาประดับประดาด้วยดอกไม้ พวงหรีด ร้อยมาลา เป็นพวงพุ่มประดับไฟสีแพรวพราว แล้วนึกถึงตนจะต้องเน่าเหม็นเหมือนศพอยู่ในโลงนั้น แล้วพิจารณาปกติของคนที่หลอกคน แต่งตัวล่อให้คนหลง แล้วนึกถึงความไม่สบายกาย ที่กายเป็นรังของโรค เป็นหนอง เป็นฝีเป็นหวัด เป็นไอ สารพัดโรคที่อยู่ในกายนี้ เป็นโรคกุฏฐํ (เรื้อนเป็นหนองเน่าเปื่อยพุพองอยู่ทั่วเรือนกาย) คนงามธรรมชาติ คนงามตกแต่ง บอกนิสัยตนเอง ตกแต่งตามกาล ตกแต่งตลอดกาลทุกวันไม่ไหว ได้แต่แต่งตัว ไม่ได้การ ไม่ได้งาน ได้แต่หลงฟุ้งเฟ้อ ฟุ้งซ่าน หาเครื่องประดับต่างๆ พวกเรานักปฏิบัติอย่าหลงกาย อย่าหลงเล่ห์เหลี่ยมมายาของกาย เดี๋ยวจะเป็นทาสรับใช้กาย เฝ้าแต่กาย ดูแต่กาย พิจารณาให้กายนี้เป็นกรรมฐานเป็นบ่อเกิดแห่งสติปัญญา อาศัยกายนี้ปฏิบัติไปจนเป็นอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ทำจิตให้รวมลง เป็นเอกัคคตาจิต ถอนขึ้นมาก็เพ่งก็พิจารณาจนกายนี้แตกละเอียดเป็นธุลีธาตุไป จนกายนี้เป็นแก้วขึ้นมา ก็พิจารณาดูภายในแก้วนั้นอีก รู้จนที่สุดรู้ก็ไม่สงสัยในเรื่องกาย ไม่รัก ไม่หลง ไม่เกลียดกาย ปล่อยกายเป็นกายตามสภาพธรรมดาของกาย ถ้าไม่พิจารณาให้รู้ให้เห็นอย่างนี้แล้วละไม่ได้ ขืนละเดี๋ยวจะหลงโมหะอวิชชาครอบงำได้ ต้องรู้การแตกหักทำลายของกายนี้จึงจะหายหลง มีสติปัญญาพร้อมมูล บริบูรณ์ จึงพ้นทุกข์จากกายนี้ได้