รวมธรรมะของท่านอาจารย์นพพร อาทิจจวํโส

                สิ่งใดที่เป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็เป็นโลก สิ่งใดเป็นโลก สิ่งนั้นก็แตกดับเป็นธรรมดา  ถ้าเรายึดธรรมดาเป็นเครื่องอยู่ ก็คงรับสุขรับทุกข์บ้าง ต้องอาศัยธรรมวินัยเป็นเครื่องบ่งชี้  เป็นแนวทางที่ได้มาแห่งปัจจัย 4 ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้ปัจจัย 4 ก็เป็นเหตุให้เกิดสุข ทุกข์ อย่างโลก ต้องใช้ปัญญาพิจารณาคุณ-โทษของปัจจัย 4 แล้วถือเอาเท่าที่จำเป็น  สิ่งใดที่เกินจำเป็นล้วนให้ทุกข์ ถือเอาตามควรแต่พอดี เว้นละบรรเทาเสีย อดกลั้นได้เป็นดีที่สุดแห่งทุกข์”

 

                เพราะละความปรารถนาเสียได้เป็นสุข สุขเช่นนี้เป็นที่ต้องการของสมณะผู้สงบ เพราะความสงบปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลส ตัณหา ยินดีพอใจได้ยาก เพราะไม่ได้รับความสนุกความเพลิดเพลินจากรูป กลิ่น เสียง รส โผฏฐัพพะ สัมผัสทางเนื้อหนัง หลงอยู่ในรูปธรรมภายนอก ครั้นรูปธรรมเสื่อมสลาย ตาย หรือจาก พ้นวิสัยให้กลับคืนคงที่ ดีเหมือนเดิมไม่ได้ก็ตกอยู่ในห้วงมหันตทุกข์”

 

                “ควรแล้วหรือที่จิต นามธรรมจะหลงรูปธรรม อันแตกดับเป็นที่พึ่งอาศัย  รูปธรรมนี้ทำให้ต้องดิ้นรน เดือดร้อน เพราะความต้องการปรารถนา เหมือนกับหาโทษมาสุมจิตใจ จนหาความสุขใจไม่ได้ เพราะความเคยชินทางโลกโลกีย์ จึงหาความสงบจากโลกโลกีย์ไม่ได้ จึงต้องเข้าหาธรรมวินัย อันเว้นละห้ามสิ่งอันเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ละความอยากที่เรียกว่าตัณหาเสียได้เป็นความสุขอย่างยิ่ง”


                วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 อาตมาบิณฑบาตเสร็จแล้วมากุฏิ เก็บบริขารเสร็จแล้วเดินจงกรม ขณะเดินมีความรู้ปรากฏขึ้นในจิตว่า จงมีธรรมเป็นอาหาร จงมีธรรมเป็นเครื่องนุ่งห่ม จงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัย  จงมีธรรมรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ที่เรียกว่าธรรมโอสถ

 

สมาธิทรงตัว คือ ความสงบ
ปัญญาทรงตัว คือความรู้ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
รัก  ----------> ตามลักษณะของ  “กฎแห่งสมดุลย์”  ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
รัก----------->ตามลักษณะของ  กฎของความยุติธรรม  คือ ความเสียสละ


                ถ้าเรารักเมตตาผู้อื่น ก็รักแต่พอดีที่ต้องการรัก รักนั้นจะสมดุลย์พอดี (เฉพาะตัวเรา)  คือ รักเฉพาะตัวจะสมดุลย์พอดี


                ถ้าเรารักเมตตาไม่มีความประมาทในความยุติธรรม รักนั้นจะยุติธรรมได้ด้วยการเสียสละ (คือ เสียสละส่วนตน เพื่อค้ำจุนให้เกิดความยุติธรรม)

                1.เราต้องไม่สร้างหรือทำทุกข์ให้เกิดกับใคร จึงจะไม่เกิดทุกข์กับตนเอง จึงจะสมดุลย์ (เฉพาะตน)
                2.เราจะสร้างความสุขให้เกิดกับใคร เพราะเขาทุกข์อยู่ เราจะต้องเสียสละสุขส่วนตนให้กับเขา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อรักษาความยุติธรรม เพราะเราจะอยู่สุขสบายตามอัตภาพเฉพาะตนลำพังไม่ได้ นี่เป็นอารมณ์พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ
อะไรเล่าเป็นทุกข์  ------------>  จิตเป็นทุกข์  กายเป็นทุกข์
อะไรเล่าเป็นสุข    -------------> จิตเป็นสุข  กายเป็นสุข


                เมื่อใจเป็นทุกข์-กายเป็นทุกข์ จะทำอย่างไร ?  ใจจะหายทุกข์ได้เพราะ


                1. ไม่มีวิตกวิจารณ์ สังขารจิตปรุงแต่งไม่ได้ เพราะอะไร?   เพราะความกังวลห่วงใยไม่มี จึงไม่เกิดวิตกขึ้น ไม่มีวิจารณ์เพราะไม่มีเหตุ (วิตก)  จึงไม่มีความไตร่ตรอง  ไม่มีความใคร่ครวญ  (สมถะหรือสมาธิ) สมดุล


                 2.  กำหนดรู้ทุกข์ลงไป เพราะมีสาเหตุเกิดขึ้นแล้ว ต้องใช้ทั้งวิจารณ์และความใคร่ครวญ (วิปัสสนาปัญญา) ทำเหตุที่เกิดให้ยุติ (สงบ) ลงเสียก่อน แล้วค่อยใช้ปัญญาและสติ  กำหนดรู้ตามแก้ไขจิต ไม่ให้ทำสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ทำทุกข์ให้เกิดขึ้น มีขึ้น เป็นขึ้นได้อีก จึงเป็นธรรม (ยุติ-ธรรม)

Share