พิจารณาธรรม วันพุธที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓
มีความเร่งเร้าให้ได้รู้ แต่ส่วนที่เห็นที่จริงมากกว่าเหตุผล เพราะวิธีการศึกษาได้ศึกษาแต่ข้ออยากรู้อยากเห็น เท่าที่ควรรู้ควรเห็น ไม่มีข้อยั่วยุให้คิดค้น ได้ศึกษาถึงเรื่องนอกตำราบ้าง ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนหรือไม่ก็ตาม เพราะมุ่งตัวศาสนาล้วนๆ ไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นเลย รู้สึกจะเป็นการเข้าใจผิด ศาสนา คือคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงแสดงเรื่องเหตุผลตลอด
นักวิชาการสมัยใหม่ อาจารย์ใหม่ๆ กำลังจะดูหมิ่นคำสอน เพราะไม่มีปัญญาค้นคว้าศึกษาสิ่งที่พระองค์ทรงแสดงบัญญัติไว้ดีแล้ว มุ่งตั้งต้นเป็นศาสดาแข่งกับพระพุทธเจ้า น่าอเน็จอนาถยิ่งนัก ทั้งที่อาศัยพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอน พระสงฆ์ ครูอาจารย์ก็ยังมี ผู้นอกคอกก็ค้นเดาว่าเป็นเพียงสัญญาจำเอาได้เท่านั้น แต่ฟังดูแล้วก็พูดไม่พ้นสัญญา ๑๐ ของพระพุทธเจ้าไปได้ เหมือนกบในกะลาครอบ คิดว่าตนเองใหญ่คับฟ้า ไม่น่าเลยสัตว์ผู้มืดหลง ยังพ้นกะลาครอบไม่ได้ ที่ไหนจะแจ่มแจ้งพ้นทุกข์จากสิ่งที่อยู่นอกกะลา
ชีวิตคนเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ธรรมดาคลื่นเกิดได้อาศัยลมแรงเป่า ลมพัดแรงคลื่นก็ใหญ่ บางครั้งคลื่นก็ป่วนปั่นมีอันตรายก่อให้เกิดความสูญเสียได้ ท้ายสุดก็สลายหายไปสิ้นพิษสงในเมื่อกระทบฝั่ง ชีวิตคนก็เช่นเดียวกันกับน้ำสงบนิ่ง ความปรารถนา คือ ลม ความวุ่นวาย ที่เกิดความอยากปรารถนา เป็นลูกคลื่น เมื่อคลื่นได้เคลื่อนมาถึงฝั่ง คือ ธรรม แล้วก็สลายไป (ตายไป) ก็ยุติชีวิตอันยุ่งยากหลายอย่างเสียได้ ได้ธรรมอันเป็นฝั่งกั้นกระแสคลื่น ที่ทยอยเข้าหาฝั่ง ลูกแล้ว ลูกเล่า คนแล้ว คนเล่า ในทุกชีวิตที่มีความอยากเสียได้ คลื่นเสน่หา ความใคร่ ความร้อนจะดับสิ้นไป เพราะดับกระแสคลื่นอารมณ์ได้ มาถึงฝั่ง คือตายจากกิเลสตัณหา ทั้งปวง มาเป็นสมณะผู้สงบเรียบร้อย เป็นนักปฏิบัติ ไม่มีอารมณ์ปรารถนา ไม่มีอาลัยในโลกทั้งปวง อนาลโย!
คนพาล พูดร้อยครั้ง พันครั้งก็ไร้ประโยชน์ บัณฑิตพูดครั้งเดียวก็สำเร็จประโยชน์โดยแท้
“สิ่งจำเป็นเป็นเรื่องถาวร สิ่งควรทำเป็นเรื่องมั่นคง ประโยชน์ของตนแน่นอนไม่มี ความรอบรู้ทุกอย่างเป็นการบ้าน...การเมือง ความอยากของคนหาที่สุดได้ยาก ความยึดมั่นในธรรมมีจุดมุ่งหมาย ความหลุดพ้นและความสงบ ดีกว่าเดือดร้อนเพราะไม่แน่นอน”