นิมิต 1

พิจารณาธรรม วันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ 
เวลา ๑๔.๓๘ น.
                เป็นเพียงสิ่งบอกเหตุ  เป็นเครื่องหมายให้เราได้พิจารณาเฉยๆ  เวลาที่จิตมันจะสงบ หรือสงบแล้วจิตมันวางอารมณ์เรื่องภายนอกต่างๆ มันหลบเข้ามาข้างใน จิตมันเป็นตัวรู้ มีความรู้มันก็แสดงภาพให้เราดู นั่นแหละเรียก นิมิต มันฉายเงาไปจากจิตใจเรานั่นเอง  ทางข้างในเวลาเรากำหนดจิต ให้มันเข้ามาอยู่ข้างใน รู้ข้างในไม่ให้มันหลบหนีออกไปเที่ยว รู้อะไรต่ออะไรข้างนอกจิต มันเลยจนมุม เราอยู่ข้างใน มันก็เลยแสดงความรู้ข้างในให้เราดูอยู่เฉยๆ  ไอ้ที่มันเอาให้เราดูนั่นแหละเรียกว่านิมิต มันฉายเงาไปจากจิตใจเรานั่นเอง มันหลบแสงสว่างข้างนอกแล้วมาฉายข้างในให้เราดู  นิมิตนี้ไม่ใช่ตัวปัญญาที่แท้จริง นิมิตจึงมีทั้งของจริงของปลอม

                นิมิตเห็นอะไร  ทำให้รู้อะไรได้หลายอย่าง เช่น  เห็นเทวดา  เห็นนรก  สวรรค์  เห็นนิพพาน  เห็นพระพุทธเจ้า  เห็นพระอรหันต์องค์นั้น องค์นี้  จิตมันแสดงเงื่อนไขให้เราพิจารณา เป็นข้อคิดสำหรับฝึกจิต เพื่อให้เราแก้ไขจิต ให้เกิดปัญญา  นิมิตนี้อาจเป็นของจริงก็ได้  เป็นเพียงมายาภาพก็มีเยอะแยะ เราอย่าได้ยึดถือให้เพียงรับรู้พิจารณาแล้ววางเฉย ถ้าเราไปยึดมันว่าเป็นของดี ของวิเศษ มหัศจรรย์เกิดความเพลิดเพลิน ชมชอบยินดี ปัญญามันก็ไม่ได้เกิด การยึดถือนิมิตทำให้เกิดกิเลสขึ้นมาอีก บางคนหลงนิมิตไปเลย เห็นนิมิตเป็นของจริงจัง ไปคุยโม้โอ้อวดว่า ตนเก่งอย่างโน้นอย่างนี้ ท่าโน้นท่านี้ อย่างนี้ผิดแล้ว นิมิตเป็นเพียงเล่ห์เหลี่ยมของจิต  เวลาจิตเป็นสมาธิสงบ จิตมันจะหยิบยก หรือแสดงภาพนิมิตอะไรขึ้นมาในสมาธิ ก็เป็นทั้งเรื่องจริงและไม่จริง บางอย่างที่เป็นนิมิตเป็นของจริง เราก็ไปยึดถือไม่ได้  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สัพเพธัมมาอนัตตา พระธรรมเป็นอนัตตา เราจะไปยึดเอามาเป็นของตนไม่ได้ ควรถือปฏิบัติให้เคร่งครัด เวลาจิตจะถอนออกจากสมาธิใหม่ๆ ให้มีสติพิจารณา กรรมฐาน ให้จิตน้อมเข้ามา พิจารณารูปกายของตน ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ทุกระยะที่จิตถอนจะบังเกิดผลอย่างพึงพอใจยิ่ง

                “พระอาจารย์มั่น บอกเตือนอาจารย์จวณ กุลเชฏโฐ”

                “ความรัก ความอาลัย เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ คนมีความรักมากเท่าใด ย่อมมีทุกข์มากเท่านั้น รักหนึ่งมีทุกข์หนึ่ง มีรักสิบมีทุกข์สิบ มีรักร้อย รักพัน รักหมื่น รักแสน รักล้าน รักล้าน ก็มีทุกข์ร้อย มีทุกข์พัน มีทุกข์หมื่น มีทุกข์แสน มีทุกข์ล้าน ความทุกข์ย่อมเพิ่มปริมาณขึ้นตามความรัก  เหมือนไฟเพิ่มขึ้นตามจำนวนเชื้อที่เพิ่มทวีขึ้น”
Share