กรรมฐาน ๕

พิจารณาธรรม วันจันทร์ที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒ 
เวลา ๒๓.๐๐ น.
   
                ตะจะปัญจกะกรรมฐาน การพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง  ให้เห็นตามเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายตนเอง และผู้อื่นเป็นผู้มีสติ มีสมณะสัญญา ย่อมละ ราคะ โทสะ มานะ ทิฏฐิ อวิชชา ที่ครอบงำอยู่ ละอุปาทานไม่ยึดถือแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่เกิดอารมณ์ เห็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลง รู้อนัตตา ความเสื่อมสลาย พิจารณาดูจิต มีความเข้าใจ ไม่ยึดถือ จึงไม่มีทุกข์ พิจารณาดูศีลทั้ง ๒๒๗ อันเป็นข้อห้ามให้ปฏิบัติ ศึกษาสำเหนียก 

                พิจารณาทำความเข้าใจ ตามเหตุที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเป็นสิกขาบท  แต่ละข้อตามลำดับๆ ด้วยความตั้งใจมั่นใคร่รู้ เป็นต้นเหตุให้เกิดโทษ มีทุกข์ตามเป็นจริง แล้วยกศีลข้อห้าม ๒๒๗ มาเทียบเข้ากับอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

                ปาราชิก ๔ เทียบเข้า สมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด

                สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ  อนิยต ๒ ข้อ  นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ  ปาจิตตีย์ ๙๒ ข้อ ปฏิเทสนีย์ ๔ ข้อ เทียบเข้าทุกข์ เพราะทนได้ยาก

                เสขิยวัตร ๗๕ ข้อ อธิกรณสมถะ ๗ ข้อ เทียบเข้ามรรคปฏิบัติตามแล้วเข้าถึงความสงบสุข

                ความไม่มีอารมณ์ ทำให้ไม่มีกามารมณ์ ไม่ล่วงศีล เทียบเข้านิโรธ ความดับทุกข์ เพราะดับอารมณ์ทั้งปวงดับสนิท ไม่มีเชื้อ เพราะไม่มีอารมณ์นั่นเอง เพราะอารมณ์เป็นต้นเหตุทั้งปวง ทำให้เกิดโทษทุกข์ทั้งปวง

                ปฏิบัติงดเว้น ไม่ล่วงละเมิด ไม่ทำให้ผิด งดเว้นตามพุทธบัญญัติทั้ง ๒๒๗ ข้อ ก็เป็นกุศลศีล เป็นผู้มีปัญญาฉลาดในศีล เพราะรู้เข้าใจ งดเว้นได้ มีประโยชน์สุข ปราศจากเวรกรรมวิบาก ตัดวัฏฏะสงสาร ไม่ต้องเวียนมาเพื่อความเศร้าโศกอีก เป็นปาฏิโมกข์สังวรศีล หลุดพ้นด้วยความสังวร สำรวมระวังไม่ล่วงทุกสิกขาบทที่เป็นศีล

                เมื่อพิจารณาศีล พิจารณาตนเองตามศีล ตามสิกขาบทต่างๆ ตนได้ปฏิบัติตามแล้ว มีศรัทธาเชื่อมั่นในศีล เป็นผู้บริสุทธิ์ สะอาด หมดกังวล ไม่มีอาลัยอาวรณ์ มีปีติ อิ่มใจ สงบอยู่กับความบริสุทธิ์นั่นเอง ระงับปีติ ความอิ่มใจแล้ว พิจารณาดูศีลด้วยใจสงบ ก็สลดสังเวชจิตในบุคคลผู้ล่วงศีล มีปาราชิก๔ เป็นต้น เทียบเข้ากับสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์อีกครั้ง โดยอนุโลมปฏิโลม สลดใจ สังเวชจิต ที่มีอารมณ์คิดไปอย่างนั้น ทำให้เกิดมีอารมณ์อย่างนั้น ทุกข์จึงเกิดขึ้น เจริญมากขึ้น อนิจจังก็เปลี่ยนแปลงสภาวะอย่างรวดเร็ว อนัตตา ความสูญสลายไม่มีอารมณ์ก็เกิดขึ้น จิตก็สงบกับอนัตตาว่างจากอารมณ์อีก

                ไม่ยึดถือมั่นในตน มีความว่างเป็นอารมณ์หนึ่งเด่นชัดในจิตใจ เชื่องสงบไม่ส่ายแส่ ไม่หวั่นไหว ความฟุ้งซ่านไม่ปรากฏ ตัวรู้สงบมาก สังเกตดูจิต มีสติระลึกกับความสงบ จิตไม่รับอารมณ์ทั้งหมด ตาก็ยังเห็นรูป หูก็ได้ยินเสียง จมูกก็ยังรู้กลิ่น ลิ้นก็ปกติ เพราะไม่ได้ลิ้มรส กายก็ปกติไม่ได้สัมผัส จิตรู้อารมณ์แต่ไม่รับอารมณ์ รู้แล้วละ รู้แล้วผ่าน  จิตไม่เกี่ยวข้องอารมณ์ทั้งหลาย  จิตรู้อย่างครึ่งหลับครึ่งตื่น จิตจมอยู่ในสมาธิครึ่งหนึ่ง จะลงก็ไม่ลง จะขึ้นก็ขึ้นไม่หมด เหมือนมีตาอันทอดลงเป็นปกติ มีจิตอันสำรวมแล้ว ความสงบเย็นเป็นเช่นนี้ ใจมีธรรมเป็นอารมณ์ มีศีลเป็นอารมณ์ จึงเข้าใจโลกกุตระธรรม ธรรมที่เหนือโลก เพราะอารมณ์ของโลกเข้าไปไม่ถึงใจที่มีศีลมีธรรม

                ความเป็นผู้ปฏิบัติตามเสขิยวัตร ทำให้เป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ทั้งปวง เพราะเป็นข้อห้ามอันละเอียดลึกซึ้ง  ทำให้ผู้พบเห็นมีความเลื่อมใส เป็นมัชฌิมา ปฏิบัติพอดีกับภาวะกาล ผู้พบเห็นประทับใจ เทียบเข้ากับมรรคมีองค์ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ๑  มีสัมมาสังกัปปะความดำริชอบ ๑  มีสัมมาวาจาการพูดชอบ ๑  มีสัมมากัมมันตะการงานชอบ ๑  มีสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ ๑  มีสัมมาวายามะเพียรชอบ ๑ มีสัมมาสติระลึกชอบ ๑  มีสัมมาสมาธิตั้งใจมั่นชอบ ๑ เป็นสันตติสืบเนื่องถึงกัน เป็น ๑ โดยอัตโนมัติ ที่เรียกว่า มรรคสมังคีเป็นหนึ่ง หรือมรรคสามัคคีเป็นหนึ่ง

                ศีล อันเป็นปริยัติ ศึกษาดีแล้ว เป็นธรรมที่ต้องปฏิบัติ จิตตั้งมั่นแล้วเกิดปัญญา ถึงปฏิเวช ความสงัดกาย สงัดใจ หายฟุ้งซ่าน ย่อมข่มขี่อนุสัยสันดาน อาสวะ ซึ่งนอนเนื่องช้านาน เป็นอารมณ์ของกิเลส ให้เกิดโทษ มีโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ เกิดการสั่งสม ด้วยมีอุปาทานยึดถืออารมณ์ มาเก็บไว้ที่ใจนั่นเอง พิจารณาเสขิยวัตร ๗๕ อันเป็นทางมาทางไปของอารมณ์ ตัณหากิเลส จึงมีความทึ่งในพุทธิปัญญาตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมและทรงบัญญัติพระวินัยไว้เป็นมรรค  หนทางเข้าถึงความดับทุกข์ พ้นทุกข์โดยชอบ เป็นปัจจัตตังเข้าถึงรู้ได้ด้วยตนเองอย่างอัศจรรย์ใจ จึงรู้สึกได้ว่า พระไตรปิฎกทั้ง ๓  พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก มีความบริสุทธิ์สมบูรณ์บริบูรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็เพียงพอ เป็นมรรคเป็นหนทางเข้าถึงนิโรธะ ความดับทุกข์ได้ เพราะเป็นอารมณ์ เพราะเป็นธรรมารมณ์ที่คัดเลือกแล้ว ไม่เป็นขยะอารมณ์ มะเร็งอารมณ์ ยังผู้ปฏิบัติแล้วเข้าถึงความสงบสุข บริสุทธิ์สะอาด หมดจดเป็นวิสุทธิ์ จากอารมณ์อันเป็นอาสวะทั้งหลายของโลกปัจจุบันนี้ เห็นแจ้งประจักษ์แก่ใจตนเอง เล็งเห็นความจริงที่ปรากฏอยู่ในวัตร คือ ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ย่อมมีผลประโยชน์ตามควรแก่ผู้ปฏิบัติตาม

                สหธรรมิกทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อการศึกษา เพื่อความวิมุติหลุดพ้น เวรวิบากกรรมวัฏฏะสงสารอย่าประมาทศีล เช่น เสขิยวัตร ซึ่งเป็นมรรคปฏิบัติ สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยมรรค ๘ เป็นทางให้รู้ถึงอภิญญาเทสิตธรรม มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น มีอยู่พร้อมเสร็จที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงประทานสอนให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย เป็นธรรมรักษาผู้ปฏิบัติตามให้พ้นทุกข์ ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว

                พระสงฆ์ พระอริยะสงฆ์ ผู้ปฏิบัติตามได้รับผลดีแล้ว ในพระธรรมในพระวินัย เป็นตัวอย่างที่ดี แนะนำให้ผู้เห็นทุกข์รู้ความทุกข์ ตามเป็นจริง เรื่องของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่พระเจ้าลัทธิไหนก็ช่วยไม่ได้ ทรงแสดงศีลพระวินัยเพื่อไม่ให้ทำร้ายเบียดเบียนกัน ไม่ให้มีเวรภัย ตายแล้วเป็นเทพเจ้า เป็นพระเจ้าได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอคอยให้ใครมาตัดสินว่า ผู้นี้สมควรเป็นพระเจ้า ผู้นี้ไม่สมควรเป็น ไม่ต้องอ้อนวอนติดสินบนพระเจ้าด้วยประการใด ๆ

                พระธรรมพระวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของแท้ ทนต่อการพิสูจน์ สามารถท้าทายให้ผู้อื่นมาดูได้ เพราะเป็นสิ่งคงทน เป็นอมตธรรม เป็นพุทธโอวาท เป็นพุทธบัญญัติ มีผลในตนเอง ผู้ปฏิบัติตามจะได้ตามผลที่ตนปฏิบัตินั้น จะเป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด เพราะไม่มีเวรกรรม เป็นผู้สิ้นอาสวะ เพราะไม่มีมีอารมณ์สั่งสม  เป็นผู้อิสระ เพราะไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวผูกพันเป็นสุคโต ไปดีแล้วจากครอบครัว เป็นผู้สะอาดหมดจดสิ้นเชิง เป็นวิสุทธิเทพทั้งยังมีชีวิตอยู่

                อธิกรณสมณะ ๗ ข้อ ระงับวิตกวิจารณ์ สังขารไม่ปรุงแต่ง เมื่อระงับตามพระธรรมวินัยแล้ว ความสงบแห่งจิตย่อมมี ความเร่าร้อนใจเมื่อล่วงสิกขาบท ทำผิด หรือสงสัยว่าจะผิดก็ทำคืน แสดงปลงอาบัติเพื่อสังวรระวังต่อไป เป็นระเบียบวินัยของพระอริยะเจ้า 
System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]System.String[]