อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส
“รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่ติดใจอันเป็นที่น่ายินดี รักใคร่ พอใจ จึงให้เกิดกิเลส”
ความอยากได้ที่เรียกว่าตัณหา เมื่อตัณหาเกิดขึ้นในใจ แล้วก่อให้เกิดความขวนขวาย เรียกว่าทำกรรม หรือทำการงาน เมื่อทำการงานแล้วย่อมได้รับผล คือ ความสุข ความทุกข์ตามสมควรแก่เหตุ ถ้ารับสุขก็ติดใจใคร่จะได้ความสุขชนิดนั้นอีก ถ้าได้รับความทุกข์ก็ใคร่พ้นจากทุกข์ไปเสีย รวมความว่ากิเลสไม่ว่าชนิดใด จะเป็นรูปก็ตาม เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สัมผัส ก็ตาม กิเลสดีก็ตาม กิเลสฝ่ายชั่วก็ตาม เป็นเหตุให้ทำการงาน เมื่อทำการงานแล้วย่อมได้ผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เมื่อได้รับผลเป็นสุข ทุกข์แล้วก็เกิดกิเลสอีก กิเลสเกิดที่จิตดับที่จิต
“สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รู้รส กายได้รับสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เกิดความรู้สึกนึกคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายสัมผัสบ้าง แล้วก็นำมานึกคิด ปรับปรุงแก้ไขตามแต่ใจต้องการ ก่อให้เกิดการขวนขวาย ค้นคว้า ศึกษา เล่าเรียนอบรมพิสูจน์ ผลก็ปรากฏเป็นความเข้าใจ รู้เหตุ รู้ผล รู้ซึ่งถึงกฎธรรมดาหรือเข้าใจธรรมชาติอันมีอยู่รอบตัว แล้วก็รู้จักประกอบการงานให้เหมาะสมหรือการตั้งตนไว้ชอบ เมื่อมีความเข้าใจธรรมดาหรือธรรมชาติที่ดีแล้ว ความรอบรู้ก็เจริญขึ้น จิตก็ไม่หลง ความรู้สึกตัวของจิตจะดีขึ้น สติสัมปชัญญะเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญ ”
อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดสติ
“ความสนใจในรูป กลิ่น รส โผฏฐัพพะสัมผัสอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ ให้พวงระลึกถึงด้วยความรู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อันเป็นความรู้สึกตัวของจิตเรียกว่า สัมปชัญญะ เมื่อความรู้สึกมีขึ้น ความรับผิดชอบอันเป็นภาระที่ต้องทำก็มีขึ้น สติความระลึกถึงหน้าที่อันจะต้องทำก็มีขึ้น ณ กาลนั้น ฉะนั้นจึงว่าความสนใจเป็นปัจจัยให้เกิดสติ”